พิษณุโลก เลขาธิการกพฐ. ตรวจเยี่ยมสองโรงเรียนในพิษณุโลก ซักซ้อมแผนรับมือแผ่นดินไหว เตรียมพร้อมก่อนวันสอบระดับชาติ ย้ำทุกโรงเรียนต้องให้ความปลอดภัยเด็กเป็นอันดับหนึ่ง
วันที่ 4 เมษายน 2568 เวลา 13.00 น. ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุแผ่นดินไหว ณ โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี ดร.ศิริวรรณ ขวัญมุข ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิษณุโลก-อุตรดิตถ์ พร้อมคณะผู้บริหาร ครู และบุคลากรให้การต้อนรับ
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในจังหวัดพิษณุโลก 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม และโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี ซึ่งได้มีการจัดซ้อมแผนเผชิญเหตุแผ่นดินไหว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในสถานศึกษา โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 5-6 เมษายน ซึ่งเป็นวันสอบคัดเลือกเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 พร้อมกันทั่วประเทศ
ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงความจำเป็นของการฝึกซ้อมในครั้งนี้ว่า “จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้เราตระหนักว่า ประเทศไทยยังมีจุดอ่อนเรื่องการรับมือภัยพิบัติ โดยเฉพาะในสถานศึกษา การฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุจึงเป็นมาตรการเชิงป้องกันที่จำเป็น เพื่อให้ครู นักเรียน บุคลากร และผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง หากเกิดเหตุการณ์จริง
เลขาธิการ กพฐ. ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยต่อความปลอดภัยของนักเรียนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงวันสอบที่จะมีนักเรียนมารวมตัวกันจำนวนมากทั่วประเทศ จึงได้มีนโยบายให้โรงเรียนทุกแห่งที่จัดสอบ ดำเนินการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ ทั้งกรณีแผ่นดินไหว ไฟไหม้ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้า
ประเทศที่เผชิญภัยพิบัติบ่อยครั้งอย่างญี่ปุ่น มีระบบการฝึกซ้อมที่เข้มข้นและเป็นมาตรฐาน ประชาชนของเขารู้ว่าจะต้องทำอย่างไรในแต่ละสถานการณ์ เช่น แผ่นดินไหวระดับใดควรอยู่นิ่ง ระดับใดควรหลบใต้โต๊ะ หรือระดับใดควรรีบออกจากอาคาร ขณะที่ประเทศไทย เรายังไม่มีระบบหรือเกณฑ์ที่ชัดเจน วันนี้เราจึงต้องเริ่มต้นจากการซ้อม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและฝังรากความรู้เรื่องการเอาตัวรอดไว้ในตัวเด็กๆ
ทั้งนี้ การซ้อมแผนที่จัดขึ้นในวันนี้จะไม่ใช่เพียงแค่กิจกรรมรายวัน แต่จะถูกพัฒนาให้เป็นแนวทางถาวร โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะจัดทำคู่มือ หลักสูตร และแนวปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ครูและนักเรียนทั่วประเทศได้รับการอบรม ฝึกซ้อม และเตรียมความพร้อมต่อภัยพิบัติทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในจังหวัดที่ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนทางธรณีวิทยา
ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวต่ออีกว่า ในวันนี้เราอาจจะยังตอบไม่ได้ว่าจะเกิดเหตุอีกเมื่อไร แต่เรารู้ได้แน่นอนว่า หากเราไม่เตรียมพร้อม ความสูญเสียจะมากกว่าที่ควรจะเป็น เป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการจึงชัดเจน คือ เด็กทุกคนต้องปลอดภัยสูงสุด
การซ้อมในวันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในสถานศึกษา และเป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียนทั่วประเทศในการนำแนวคิด “ซ้อมไว้ก่อน ปลอดภัยไว้ก่อน” ไปปรับใช้เพื่อปกป้องชีวิตนักเรียนในทุกสถานการณ์ เป้าหมายของเราคือ เด็กทุกคนต้องปลอดภัยสูงสุด
/////////////