เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 ณ ห้อง 7401 อาคารสถานพัฒนามาตรฐานและเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร รองศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ เขียวขจรเขต อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร ได้แถลงผลการวิจัยเกี่ยวกับ “การพัฒนาสูตรอาหารปลานิลจากแมลงเป็นหลัก ด้วยวัตถุดิบพื้นบ้านเพื่อยกระดับการสะสมโอเมก้า-3 (linolenic acid และ DHA) ในกล้ามเนื้อให้เทียบเคียงปลามูลค่าสูงจากต่างประเทศ”
รองศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ เขียวขจรเขต อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร เปิดเผยว่า จากการทดลองในห้องปฏิบัติการของคณะวิจัย พบว่า ใบไชยาป่น ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านที่พบมากในจังหวัดพิษณุโลก เป็นแหล่งสำคัญของ กรดไขมันชนิด 18:3n-3 (linolenic acid) ซึ่งสามารถเป็นสารตั้งต้น (precursor) สำหรับการสังเคราะห์กรดไขมันสายยาวชนิดไม่อิ่มตัวสูง (LC-HUFA) ที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเมื่อนำใบไชยาป่นมาผสมในอาหารปลานิลที่ระดับ 200 กรัม/กิโลกรัม หรือ 20% สามารถ ทดแทนกากถั่วเหลืองได้ อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวิเคราะห์กรดไขมันในกล้ามเนื้อปลานิล พบว่ากรดไขมัน LC-HUFA (linolenic acid) ในเนื้อปลานิลเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า กรดไขมัน DHA ซึ่งเป็นไขมันโอเมกา-3 ที่สำคัญ เพิ่มขึ้น 2.41 เท่า เทียบกับชุดควบคุม ปริมาณ DHA ในเนื้อปลานิลสูงถึง 65.75 กรัม/กิโลกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับปลาแซลมอนนำเข้าจากต่างประเทศลดการพึ่งพาปลาป่นและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก แต่ต้องพึ่งพาปลาป่นและน้ำมันปลาเป็นหลัก ซึ่งนำไปสู่การจับปลาจากธรรมชาติจำนวนมาก กระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและทำให้ราคาวัตถุดิบเหล่านี้พุ่งสูงขึ้น โครงการนี้จึงมุ่งเน้นการพัฒนา อาหารปลานิลสูตรใหม่ที่ใช้แมลงเป็นแหล่งโปรตีนหลัก ร่วมกับ ใบไชยา เพื่อให้ปลาสามารถสะสมกรดไขมันโอเมกา-3 ได้โดยไม่ต้องใช้ปลาป่น
ผลการวิจัยนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาอาหารสัตว์น้ำที่ยั่งยืน ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของปลานิล และช่วยให้ปลานิลไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีศักยภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ
.การวิจัยครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงปลานิลที่มีโอเมกา-3 สูงในราคาที่ถูกลง แต่ยังเป็นอีกทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรทางทะเล และสนับสนุนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
/////////////////