พิษณุโลก วัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลกเปิดกิจกรรมสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านมังคละมรดกไทยสู่มรดกโลก แด่นักดนตรีมังคละจากศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละ 9 อำเภอ และสถานศึกษาที่มีการเล่นดนตรีมังคละ รวม 21 แห่ง จำนวน 247 คน
วันที่ 18 ธันวาคม 67 ที่ศาลาประชาคม ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นายนิสิต สวัสดิเทพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดกิจกรรมสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านมังคละ มรดกไทยสู่มรดกโลก โดยมีสถานศึกษา ที่มีเครื่องดนตรีมังคละ จาก 21 โรงเรียน ในพื้นที่ 9 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลกเข้าร่วมรับการอบรมเกือบ 250 คน
นางสาวนิภาวรรณ กาญจนพิทักษ์ วัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ดนตรีมังคละ เป็นดนตรีพื้นบ้านซึ่งมีความเป็นมายาวนานนับร้อยปี ปรากฏบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก พระนิพนธ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2444 ซึ่งมีความว่าได้ยินเสียงดนตรีมังคละเป็นระยะๆ ขณะเดินทางมานมัสการพระพุทธชินราช แสดงว่าดนตรีมังคละมีบทบาทสำคัญในฐานะมหรสพของเมืองพิษณุโลกมาแต่โบราณ วงมังคละ ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติสาขาศิลปะการแสดง เมื่อปี พ.ศ.2556 ปัจจุบันยังปรากฏการเล่นมังคละอยู่ 3 ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ และจังหวัดพิษณุโลกมีจุดแข็ง คือ มีชมรมอนุรักษ์คนตรีพื้นบ้านมังคละจังหวัดพิษณุโลก และสถานศึกษาหลายแห่งทั้ง 9 อำเภอร่วมสืบสานดนตรีมังคละอย่างจริงจัง จังหวัดพิษณุโลก มีการส่งเสริม สนับสนุนดนตรีมังคละอย่างต่อเนื่อง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้รับงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการจังหวัดพิษณุโลก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จัดอบรมเชิงปฏิบัติการดนตรีพื้นบ้านมังคละให้แก่เยาวชนและจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละ ครบทั้ง 9 อำเภอ ปี 2566 จัดทำคู่มือเชิงปฏิบัติการดนตรีพื้นบ้านมังคละและท่ารำที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลกโดยใช้ชื่อว่า “มังคละเภรีศรีสองแคว” จัดทำคลิปวีดีโอเพื่อให้เยาวชนและผู้สนใจได้เข้าถึงและเรียนรู้การเล่นมังคละได้ง่ายยิ่งขึ้น ตลอดจนจัดประกวดสุดยอดดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสองแคว ทำให้สถานศึกษาต่างๆ มีความตื่นตัวมากขึ้นในการเรียนรู้การเล่นมังคละที่มีความเป็นมายาวนานนับร้อยปี
นางสาวนิภาวรรณ กล่าวว่า สำหรับปี 2567 ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก มีนโยบายให้จัดประชันมังคละเภรีศรีสองแคว เป็นปีที่ 2 และส่งเสริมให้นำการแสดงมังคละเภรีศรีสองแคว เป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมในการจัดงานต่างๆของจังหวัดและอำเภอและในปี 2568 กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดสรรงบประมาณส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นและมรดกภูมิปัญญา :กิจกรรมสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมดนตรีมังคละมรดกไทยสู่มรดกโลก โดยการผลักดันของ นายนพพล เหลือทองนารา ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.พิษณุโลก ดังนั้น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลกร่วมกับชมรมอนุรักษ์คนตรีพื้นบ้านมังคละจังหวัดพิษณุโลก จึงให้จัดอบรมดนตรีมังคละ เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านการเล่นดนตรีมังคละ ให้แก่ นักดนตรีมังคละในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย นักดนตรีมังคละจากศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละ 9 อำเภอ และสถานศึกษาที่มีการเล่นดนตรีมังคละ รวม 21 แห่ง จำนวน 247 คน ระยะเวลาการอบรม 2 วัน มีทั้งการให้ความรู้เรื่องดนตรีมังคละ และการปฏิบัติการ แบ่งกลุ่มอบรมตามทักษะการเล่นดนตรี จำนวน 5 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มกลองมังคละ 2) กลุ่มกลองยืน 3) กลุ่มกลองหลอน 4) กลุ่มปี่มังคละ 5) กลุ่มเครื่องประกอบจังหวะ หลังเสร็จสิ้นการอบรมเชื่อมั่นว่าผู้เข้ารับการอบรมทุกคน จะมีทักษะการเล่นดนตรีที่ถูกต้องแม่นยำและไพเราะมากยิ่งขึ้น
โดยวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพิ่มพูนทักษะดนตรีมังคละ เพื่อที่จะให้การเล่นดนตรีเป็นไปในทิศทางเดียวกันสอดคล้องซึ่งกันและกัน ซึ่งจะนำผลมาให้เกิดความถูกต้องต่อไป จะมีการพัฒนาท่ารำต่างๆให้เป็นท่ารำเดียวกัน แนวทางเดียวกันที่ถูกต้อง ต่อไปทั้ง 9 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก จะเล่นดนตรีมังคละแนวทางเดียวกันทั้งจังหวัด ดนตรีมังคละจังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดเดียว ที่นำดนตรีมังคละมาเป็นอัตลักษณ์ เพราะฉะนั้นมีความสำคัญมาก มังคละจะเป็นดนตรีที่จะใช้ในการรองรับผู้หลักผู้ใหญ่ที่เดินทางเข้ามาเยี่ยมเยือนจังหวัดพิษณุโลกไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี หรือว่าแขกคนสำคัญที่มาเยือน ก็จะใช้ดนตรีมังคละมาต้อนรับ มีการรำ 9 ท่าของอำเภอเพื่อเป็นการสื่อให้ทราบว่าแต่ละอำเภอมีของดีอะไร และยังอาจจะนำไปสู่การประชาสัมพันธ์ของดีทั้ง 9 อำเภอ ทำให้ทุกคนอยากติดตาม อย่างเช่น ท่ารำไก่เหลืองหางขาว เป็นที่ทราบว่าจังหวัดพิษณุโลกมีไก่เหลืองหางขาว ซึ่งเป็นตำนานที่ ผูกพันกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นของดีจังหวัดพิษณุโลกและท่าต่างๆของทั้ง 9 อำเภอที่ใช้ในการรำ ก็จะใช้ในการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับของดีจังหวัดพิษณุโลกต่อไป
//////