ม.นเรศวร MOU วีลาล่า จัดตั้งห้องปฏิบัติการสัตว์ทดลองระดับก่อนคลินิก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) โดย รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดี  ร่วมกับ บริษัท วีลาล่า โดย ดร.พงษธร โชติเกษมศรี ประธานกรรมการบริหาร และ INVITROCUE PTE LTD โดย Dr.Her Zhisheng Associate Director, Technology ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการสัตว์ทดลองระดับก่อนคลินิกตามมาตรฐานสากลเพื่อสนับสนุนการวิจัยในไทยให้สามารถพัฒนายารักษาโรคต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และง่ายขึ้น อีกทั้งยังเพื่อดึงลูกค้างานวิจัยจากทั่วโลกให้มาใช้งานบริการทดสอบสัตว์ทดลองในไทย

รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้มหาวิทยาลัยนเรศวร บริษัท วีลาล่า และ INVITROCUE PTE LTD จะได้แลกเปลี่ยนความรู้วิชาการผ่านการสัมมนาหรือการประชุมเชิงวิชาการ นอกจากนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการทดสอบและพัฒนายาใหม่ในระดับก่อนคลินิก ตลอดจนความร่วมมือทางด้านการพัฒนาบุคลากร โดยร่วมกันเสนอหลักสูตร การอบรมบุคลากรรองรับการบริการทดสอบระดับก่อนคลินิก เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานและความก้าวหน้าทางการทดสอบวิจัยที่เกี่ยวข้องการทดสอบยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ สารแต่งเติมในอาหาร เครื่องสำอาง อาหารใหม่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาสัตว์ สารชีวภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ใน ครัวเรือน รวมถึงเคมีเกษตรและเคมีอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือทางด้านงานบริการ โดยทาง มน. และทั้ง 2 บริษัทฯ จะร่วมมือกันในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ข้อสนเทศ เครื่องมือ อุปกรณ์ สถานที่ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้การดำเนินงานในโครงการต่างๆ บรรลุเป้าหมาย โดยมีระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่  2 ธันวาคม 2567 และสิ้นสุดในวันที่ 2 ธันวาคม 2570

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ได้แก่ รองอธิการบดี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้บริหารจากส่วนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะ จะเกิดประโยชน์ขึ้นทั้งสองทาง คือ ประโยชน์ต่อคนไข้โดยตรง และประโยชน์ต่อการวิจัยมะเร็ง ซึ่งหากประสบความสำเร็จ ในส่วนของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีโรงพยาบาลที่ดูแลรักษาคนไข้มะเร็งในพื้นที่ได้แก่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และโรงพยาบาลพระพุทธชินราช รองรับอยู่แล้ว ทั้งนี้ในการทดลองที่ผ่านมา กว่าที่คนไข้มะเร็งจะได้รับยาที่ตอบสนองกับตัวเองอย่างเหมาะสมนั้น ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูงมาก และในระหว่างรอ ก็จะยิ่งที่ทำให้การรักษายากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นโมเดลทางคลินิกในเรื่องการของการทดสอบการตอบสนองต่อยาของ บริษัท วีลาล่า จึงจะส่งผลดีต่อคนไข้

“รูปธรรมตรงนี้จะสามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็น ศูนย์รักษามะเร็งภาคเหนือตอนล่าง ที่เป็นหลักให้กับประเทศได้ และขอให้หาวิธีการที่จะทำอย่างไรให้คนไข้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่รับได้ ในส่วนของ มน.เอง ก็มีนักวิจัยที่ทำงานด้านนี้ค่อนข้างมากและมีคอนเนกชั่นกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่จะมาช่วยสนับสนุนและขยายงานวิจัยด้านมะเร็งได้ในหลายมิติมาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศ”

ด้าน ดร.พงษธร โชติเกษมศรี กล่าวเสริมว่า จากความเห็นดังกล่าวข้างต้นนั้น ได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของ บริษัทวีลาล่า ที่ต้องการให้คนไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยี โดยเราได้วางแผนไว้ว่า หากทางมน. มีโครงการวิจัยอะไร ก็สามารถมาคุยกับเราได้ และอาจจะขอทุนร่วมกันจากภาครัฐ เพื่อทำให้โครงการนี้สามารถขยายผลให้สามารถใช้งานได้ในวงกว้างที่ใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ เรายังมีความตั้งใจในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร โดยในปี 2568 เราจะนำร่องโดยการจ้างพนักงานเพิ่มเติมซึ่งเป็นเด็กจบใหม่ในพื้นที่จำนวน 6-20 คน ขณะเดียวกันในส่วนนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเอง เราก็จะให้มีการอบรมในเรื่องของเทคโนโลยี เพื่ออัปเดตกับนักวิจัยต่างชาติและงานวิจัยระดับโลกในทุกไตรมาส

“เราได้ไปดูศูนย์สัตว์ทดลองของมหาวิทยาลัยฯ มาแล้ว จึงเห็นถึงความพร้อมและมาตรฐาน และมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการใช้งานของภาคเอกชน เราได้วางเป้าหมายจะพัฒนาที่นี่ให้เป็นฮับงานวิจัยและพัฒนายาในการรักษาโรคใหม่ เนื่องจากมน.มีความพร้อมในทุกด้านที่จะสามารถทำได้” ดร.พงษธร กล่าว

///////////

 

แสดงความคิดเห็น