ม.นเรศวร ลงนามMOU กับบริษัท น้ำตาลพิษณุโลก จำกัด ยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลสู่ความยั่งยืน
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อดำเนินงานร่วมกัน ระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวร กับ บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก จำกัด ซึ่งนำโดยนายเอกรัตน์ เตชะเวช กรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาล พิษณุโลก จำกัด ณ ห้องประชุมนเรศวร 304 ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร
รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวร กับ บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก จำกัด ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความรู้ และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ด้านอ้อยและน้ำตาลโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวรในการเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ” ซึ่งมหาวิทยาลัยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่จะสามารถร่วมกันยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลสู่ความยั่งยืน ทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม
“บริษัทน้ำตาลพิษณุโลกเป็นภาคเอกชน อย่างที่เรารู้จักอยู่แล้วว่า วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ ความร่วมมือของผู้ประกอบการเอกชนเป็นส่วนหนึ่งของกลไกสำคัญ ของมหาวิทยาลัย โดยปกติเรามุ่งเน้นในเรื่องของการผลิตบัณฑิต การสร้างนิสิตที่มีความสามารถในการทำงาน และอันที่ 2 ในเรื่องของงานวิจัย เพื่อเพิ่มมูลค่าของโปรดักส์ต่างๆในการผลิตในประเทศไทยให้ประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการส่งออก เพราะฉะนั้นความร่วมมือในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของคนไทยสำคัญที่เรากับบริษัทน้ำตาลพิษณุโลกจะร่วม มือการพัฒนา ในการวิจัยการอบรมให้ความรู้กับนิสิตเพื่อให้นิสิตเป็นนิสิตที่มีความพร้อมมีศักยภาพในการทำงานต่อไปในอนาคต สำหรับความร่วมมือ ในอดีตที่ผ่านมา อย่างที่ได้เห็นผลงานในวีดีทัศน์ว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรกับบริษัทน้ำตาลพิษณุโลกมีความร่วมมือกันมานานกว่า 10 ปีแล้ว และความร่วมมือ เราจะมีการต่อความร่วมมือทุกครั้งจะมีการต่อความร่วมมือ ครั้งละ 5 ปี และก็มีการต่อสัญญาความร่วมมือขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายที่เซ็นลงนามความร่วมมือตกลงกัน”
ด้าน นายเอกรัตน์ เตชะเวช กรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาล พิษณุโลก จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทยเป็นอันดับสองของโลก กลุ่มไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม มีเป้าหมายในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านอ้อยและน้ำตาลสู่ความยั่งยืน การผลิตอ้อยและน้ำตาลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยกระดับชาวไร่อ้อยให้มีความสุขร่วมกัน ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ คาดหวังถึงการพัฒนาคุณภาพารการศึกษา การวิจัยและพัฒนา เพื่อประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย เช่น การทดสอบพันธุ์อ้อยใหม่ การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยยกระดับการผลิตอ้อยอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่และเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
อ้อยคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของโรงงานน้ำตาล ถ้าไม่มีอ้อย โรงงานน้ำตาลก็เป็นเพียงแค่เศษเหล็กธรรมดาไม่สามารถทำอะไรได้ ฉะนั้นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยนเรศวรกับโรงงานน้ำตาลพิษณุโลก สามารถช่วยได้หลายมิติสมัยก่อนโรงงานน้ำตาลพิษณุโลกเป็นที่โหล่ว ในเรื่องของการผลิตอ้อยเผาไฟของประเทศ เพราะความร่วมมือ MOU กับมหาวิทยาลัยนเรศวร กับเราทำให้เราทราบประสิทธิภาพของอ้อยเผาไฟได้ดียิ่งขึ้น อะไรควรทำหรืออะไรไม่ควรทำในการผลิตอ้อย ทำให้จากการเป็นที่โหล่ว ของระดับประเทศ เขยิบขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ของประเทศในเรื่องของการหีบอ้อยสดที่ 97% ปัจจุบันที่นี่จะไม่เผาอ้อยถ้าไม่ใช่เกิดจากอุบัติเหตุ โดยมีการต่อยอดในหลายๆจุดเช่น การพัฒนาพันธุ์อ้อย พันธุ์อ้อยสำคัญมาก สำหรับชาวไร่อ้อยถ้าพันธุ์อ้อยไม่ดีก็จะทำให้ไม่มีรายได้พอสมควรที่จะมีการพัฒนา ปุ๋ยและยา การพัฒนาการบริหารจัดการในไร่อ้อยการนำของเหลือ จากการหีบอ้อย มาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆเช่น เราสามารถนำกากอ้อยไปทำภาชนะ ใส่แทนชามก๋วยเตี๋ยว หรือนำไปทำไบโอพลาสติก นำไปทำยา อาหารสัตว์ และอื่นๆอีกหลายอย่าง
ทั้งนี้ แนวทางความร่วมมือในครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้กรอบด้านการศึกษา การวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรรมอ้อยและน้ำตาล และอุตหกรรมต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้อง เช่น วิทยาศาสตร์การเกษตร วิศวกรรมศาสตร์ โลจิสติกส์ เศรษฐศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร สังคมศาสตร์ เป็นต้น