นายปิยะ เลาหสินนุรักษ์ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดพิษณุโลกร่วมกับ นายกิตติชัย เหลี่ยมวานิช หัวหน้ากองพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ติดตามการดำเนินงานแปลงใหญ่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ โดยส่งเสริมให้ใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ทั้งเพื่อช่วยในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต พร้อมทั้งช่วยให้เกิดการกำจัดปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพ และยังติดตามดำเนินการตามนโยบาย BCG model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน
ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
โดยเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการยางแห่งประเทศไทยส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์โดยให้สถาบันเกษตรกรเป็นผู้ผลิต โดยมุ่งเน้นให้เกิด Zero waste ซึ่งได้สนับสนุนงบประมาณให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางตำบลห้วยเฮี้ย อ.นครไทย จำนวน 200,000 บาท และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิต ลดการใช้พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป โดยสนับสนุนงบประมาณจำนวน 96,770 บาท ให้นายจรูญ สว่างแก้ว เกษตรกรชาวสวนยางบ้านถ้ำพริก ต.บ้านแยง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ทั้งนี้การยางแห่งประเทศไทยยังส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผลผลิตโดยการสนับสนุนเครื่องผสมน้ำกรดฟอร์มิกอัตโนมัติ เพื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาใช้กรดฟอร์มิกในการผลิตยางก้อนถ้วย และยังติดตามเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็น Smart Farmer ที่สามารถผลิตเครื่องผสมน้ำกรดอัตโนมัติ ใช้ในกลุ่มเกษตรกรเพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างความมั่นคงให้กับกลุ่มต่อไป