รองนายกฯสั่งเร่งระบายน้ำ-ฟื้นฟูเยียวยาชุมชนที่น้ำท่วม

พิษณุโลก  รองนายกฯ ประเสริฐ  ลงพื้นที่พิษณุโลก-พิจิตร ให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย สั่งเร่งระบายน้ำและฟื้นฟูเยียวยาให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว กำชับบริหารจัดการน้ำช่วงรอยต่อปลายฝนเข้าแล้งอย่างรัดกุม พร้อมชู “บางระกำโมเดล” เป็นต้นแบบพื้นที่รับน้ำหลาก เตรียมวางแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วันที่ 12 ต.ค. 67 นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี  พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์  กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ    ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม- น่าน และมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัย จ.พิษณุโลก  โดยเข้ารับฟังสรุปสถานการณ์อุทกภัย และแผนการแก้ไขปัญหา  จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   ที่ สำนักงานชลประทานที่ 3 อ.เมืองพิษณุโลก  ซึ่งสถานการณ์น้ำ ภาพรวม  แม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำและระดับน้ำลดลง    ส่วนการเก็บกักน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก  95%   ระบายน้ำวันละ 4.91 ล้าน ลบ.ม/วัน สำหรับ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปริมาณน้ำเก็บกัก 81%  สถานการณ์โดยรวมปกติ  และแม่น้ำยมสายหลัก ที่ไหลผ่าน อ.บางระกำ  ยังคงมีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง จากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ตอนบน และมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสาขาของแม่น้ำยม พื้นที่ฝั่งขวา  ไหลหลากลงมาสมทบแม่น้ำยม ส่งผลให้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น   ในส่วนแม่น้ำยมสายเก่าที่ไหลผ่าน อ.พรหมพิราม อ.เมือง ลงมา อ.บางระกำ ปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำพื้นที่แม่น้ำยมตอนบนเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เร่งตรวจสอบและซ่อมแซมเสริมคันป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่ง  หลังจากนั้น ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ทุ่งบางระกำ ณ วัดพรหมเกษร อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก

นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ และได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือและเยียวยาผลกระทบ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด การลงพื้นที่ในวันนี้ ได้รับทราบสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่าน และได้เห็นสภาพปัญหาความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้วางแผนการเร่งระบายน้ำท่วมขังโดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูแล้ง จึงต้องรอบคอบรัดกุมในการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเร่งสำรวจและเตรียมแหล่งกักเก็บน้ำสำรองไว้เพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ให้เร่งดำเนินการซ่อมแซมคันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ และตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนให้มีความมั่นคงแข็งแรง  ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว จะต้องเร่งทบทวนเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทเชิงพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมทั้งพิจารณาวางแผนการพัฒนาโครงการที่สามารถรองรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่ต้องครอบคลุมพื้นที่แบบรายลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ รวมทั้งต้องสอดรับกับการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน สำหรับ “โครงการบางระกำโมเดล” ถือว่าเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำ เป็นแก้มลิงธรรมชาติที่สามารถรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี 

 

สำหรับพื้นทุ่งหน่วงน้ำตามโครงการบางระกำโมเดล เพื่อรองรับน้ำหลาก หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ฝั่งซ้ายแม่น้ำยม เก็บเกี่ยวแล้ว 100 %   มีปริมาณน้ำที่รับเข้าทุ่งหน่วงน้ำเกินศักยภาพแล้ว จากศักยภาพ 400 ล้าน ลบ.ม.  ขณะนี้อยู่ที่ 572 ล้าน ลบ.ม หรือ คิดเห็น 143%   รับเข้าพื้นที่ 210,741 ไร่ หรือ 79%     และเนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำลุ่มน้ำยมมาก จึงทำให้น้ำที่เกินศักยภาพ ท่วมเส้นทางสัญจร และระบายออกได้ช้า เนื่องจากน้ำแม่น่านมีระดับสูงไม่สามารถผันลงได้ แต่หลังจากนี้ แม่น้ำน่านเข้าสู่ภาวะปกติ จะผันน้ำระบายลงแม่น้ำน่านเพื่อระบายน้ำออกจากทุ่ง ผ่านคลองยมน่าน  และประตูระบายน้ำ DR 2.8  คาดว่าต้นเดือน พฤศจิกายน 2567นี้ จะคลี่คลาย  และคาดว่าจะเหลือน้ำในทุ่งประมาณ 300-400 ล้านลูกบาศก์เมตร จะสามารถระบายออกได้ภายในปลายเดือนพฤศจิกายน ให้ทันการเตรียมเพาะปลูกพืชตามแผนเพาะปลูกต่อไป

ส่วนด้านการช่วยเหลือ จะมีการสำรวจเพื่อให้การช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ หากน้ำท่วมบ้านเรือนเกิน 7 วัน ได้รับความเสียหาย รัฐบาลจะมีการเยียวยาหลังละ 9,000 บาท  ส่วนพื้นที่เกษตรหลังน้ำลดเสียหายโดยสิ้นเชิงเยียวยาไร่ละ 1,300 บาท  การคาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีปริมาณน้ำที่ไหลหลากจากพื้นที่แม่น้ำยมตอนบน ลงในพื้นที่ลุ่มต่ำและจังหวัดพิษณุโลก ยังคงมีพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่ลุ่มต่ำ แม่น้ำยมสายหลักและ แม่น้ำยมสายเก่าอ.บางระกำ, อ.เมือง อ.พรหมพิราม จึงแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังใกล้กับตลิ่งแม่น้ำเฝ้าระวัง  เตรียมความพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และระมัดระวังไฟฟ้าที่อยู่ในที่ต่ำน้ำท่วมถึง พื้นที่โครงการบางระกำโมเดล ควรชะลอหรืองดทำการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง  ส่วนการ บริหารจัดการน้ำ จ.พิษณุโลก ในช่วงสถานการณ์เฝ้าระวังและระดับวิกฤต ได้ใช้  5 มาตราการเร่งด่วน ในการรับมืออุทกภัยแม่น้ำยม จ.พิษณุโลก ประกอบด้วยการเร่งระบายน้ำ  เร่งป้องกัน และ ช่วยเหลือ เร่งเก็บเกี่ยว เร่งรับน้ำเข้าทุ่งหน่วงน้ำ โครงการบางระกำโมเดล ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสำหรับการเตรียมการก่อนน้ำมาตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2567  ดำเนินตาม 10 แนวทางการบริหารจัดการน้ำ   ที่สอดคล้องกับ 10 มาตราการ เพื่อรับมือฤดูฝนของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ด้าน เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย 19 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ สุโขทัย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม อุบลราชธานี ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม ซึ่ง สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินติดตามคาดการณ์การเกิดพายุที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดพายุได้อีก 1 ลูก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันนี้ – 20 ต.ค. 67 ยังไม่พบความเสี่ยงในการก่อตัวของพายุที่จะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทย ส่วนสถานการณ์น้ำของแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จำนวน 3,857 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวม 452 ล้าน ลบ.ม. หรือ 87% โดยมีอ่างฯขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียว คือ อ่างฯแม่มอก มีปริมาตรน้ำ 105 ล้าน ลบ.ม. หรือ 96% ส่วนแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน จำนวน 4,334 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวม 10,051 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94% โดยมีอ่างฯขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ อ่างฯสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 8,965 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94% และอ่างฯแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำ 746 ล้าน ลบ.ม. หรือ 79%

สำหรับแผนงานโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของ จ.พิษณุโลก ได้รับอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 จำนวน 30 รายการ ประกอบด้วยกิจกรรม ก่อสร้างใหม่ (ระบบกระจายน้ำและระบบประปา) / ซ่อมแซมและบำรุงรักษา และปรับปรุง (คุณภาพน้ำ ระบบกระจายน้ำ ระบบประปา ระบบระบายน้ำ และสระเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม) สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 0.37 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 449 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 10,843 ไร่ เช่น การปรับปรุงดาดคอนกรีตคลองส่งน้ำ P.R.-64.0R.(C-32) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล ต.บ้านไร่ อ.บางกระทุ่ม, การก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สนับสนุนพื้นที่โครงการจัดทำที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย, การปรับปรุงพนังกั้นน้ำฝั่งขวาแม่น้ำแคววังทอง ต.วังพิกุล อ.วังทอง เป็นต้น

 

โอกาสนี้ ได้พบปะประชาชน ชาว ต.ชุมแสงสงคราม ที่ วัดพรหมเกสร  อ.บางระกำ มอบถุงยังชีพจำนวน 500 ชุด เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทักภัยในเบื้องต้น  ก่อนจะเดินทางไปติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ อ.สามง่าม จ.พิจิตร

แสดงความคิดเห็น