เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 21 กันยายน 2567 ที่บริเวณลำน้ำน่านหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เทศบาลนครพิษณุโลก ร่วมกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมประชาชนชาวพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียงจำนวนมากเข้าร่วมงานพิธีเปิดประเพณีทอดผ้าป่าหัวเรือ ถวายผ้าห่มพระพุทธชินราช เปิดงานแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานประจำปี 2567 มีกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน 2567 โดยเป็นการจัดครั้งที่ 43 เพื่ออนุรักษ์และสืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งสายน้ำน่านของชาวจังหวัดพิษณุโลกเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบสานต่อ และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลก
การแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานจังหวัดพิษณุโลก ได้ดำเนินการจัดการแข่งขัน เรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 เป็นต้นมา และได้หยุดจัดไปเป็นเวลา 2 ปี จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และมาจัดต่อในปีนี้เป็นครั้งที่ 43 ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานถ้วยรางวัลสำหรับเรือยาวใหญ่ประเภท ก.
สำหรับพิธีเปิดงาน แข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน ทางเทศบาลนครพิษณุโลกได้ร่วมกับชาวบ้านตำบลวัดพริก ชุมชนสองฝั่งลำน้ำน่าน จัดประเพณีแห่ผ้าป่าหัวเรือ และแห่ผ้าห่มหลวงพ่อพระพุทธชินราช ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการแข่งขันเรือยาวในจังหวัดพิษณุโลก มีขบวนแห่ผ้าป่าหัวเรือ และผ้าห่มหลวงพ่อพระพุทธชินราช มาทางแม่น้ำน่าน ขึ้นมาถวายพระภิกษุสงฆ์ ประเพณีการร้องเพลงพื้นบ้านจากนั้นนายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกได้เดินนำขบวนนำผ้าห่มหลวงพ่อพระพุทธชินราชไปถวาย ในวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช โดยถวายผ้าห่มแด่หลวงพ่อพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระเหลือ ขนาดที่ชาวบ้านท่าโรง ตำบลวัดพริกอำเภอเมือง พิษณุโลก ได้นำผ้าอีกหนึ่งผืน ไปถวายยังองค์พระปรางค์ของ วัดใหญ่
ตามตำนานเล่าขานมาว่า ประเพณีทอดผ้าป่าหัวเรือและแห่ผ้าห่มหลวงพ่อพระพุทธชินราช เริ่มมาตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 5 เป็นเวลาประมาณ 120 ปีมาแล้ว ในทุกๆปีหลังเทศกาลออกพรรษา ชาวบ้านตำบลวัดพริก วัดท่าโรง ชุมชนสองฝั่งลำน้ำน่านด้านทิศใต้ของอำเภอเมืองพิษณุโลก จะนำผ้าป่าบรรทุกเรือพ่วงไปทางลำน้ำน่าน ผ่านไปถึงวัดไหนก็ทอดผ้าป่าวัดนั้นเรื่อยไปจนถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร(วัดใหญ่) เมื่อเสร็จพิธีมีกิจกรรมฉลองผ้าป่าด้วยเพลงเรือ เพลงเกี้ยวพาราสี และการละเล่น บนเส้นทางน้ำกลับสู่ชุมชนของตน และเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีการแข่งเรือของ จ.พิษณุโลก
/////////