พิษณุโลก ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมปล่อยปลา ลงสู่โครงการบางระกำโมเดล 1.2 ล้านตัว เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพการประมงให้ชาวบ้าน ห้วงเวลาที่ทุ่งบางระกำเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 10 กันยายน 2567 ณ บริเวณคลองแยงมุม หมู่ที่ 10 ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เขตตรวจราชการที่ 17 หัวหน้าส่วนราชการ และผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาตะเพียนขาว จำนวน 1,200,000 ตัว ลงสู่พื้นที่โครงการบางระกำโมเดล เพื่อเพิ่มประชากรปลาในแหล่งน้ำ ทำให้เกษตรกรได้มีอาชีพเสริมจากการจับปลาหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาออกจำหน่าย รวมทั้ง นำไปบริโภคในครัวเรือน ในห้วงเวลาที่ทุ่งบางระกำเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ
ด้วยกรมชลประทานและหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการร่วมกันบริหารจัดการน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วมในทุ่งหน่วงน้ำบางระกำ “โครงการบางระกำโมเดล” ในการปรับแผนการเพราะปลูกฤดูนาปี เริ่มเพราะปลูกเดือนเมษายน และให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในเดือนสิงหาคม เพื่อไม่ให้พื้นที่ดังกล่าว ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ เพื่อรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก เป็นรูปแบบการบริหารจัดการน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วม การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ และการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้พื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ระหว่างลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน ในเขตจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดพิษณุโลก ที่มความเหมาะสมเป็นพื้นที่ทุ่งหน่วงน้ำ เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
นางปริญดา รัตนแดง ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพิษณุโลก กล่าวว่า การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำโครงการบางระกำโมเดล เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560-2566 ปล่อยปลาตะเพียนขาววัยอ่อน ปลาสร้อยขาววัยอ่อน ปลาตะเพียนขาว ปลาสร้อย ปลาตะเพียนทอง ปลาแก้มช้ำ ปลากระแห ปลากาดำ ปลาเค้าขาว ปลาเค้าดำ ปลาแดงและปลาอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 79,905,870 ตัว มีชาวประมงและผู้ผลิตสัตว์น้ำโครงการบางระกำโมเดล ได้รับประโยชน์ จำนวน 674- 950 รายได้ ผลจับสัตว์น้ำในช่วงน้ำหลาก ช่วงสิงหาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี เป็นระยะเวลา 2-4 เดือน ผลการจับสัตว์น้ำเฉลี่ย 12 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน คิดเป็นรายได้ประมาณ 398 บาทต่อคนต่อวัน ผลผลิตสัตว์น้ำรวมเฉลี่ย 541 ตันต่อปีเป็นมูลค่าประมาณ 14.5 ล้านบาทต่อปี สำหรับในปีนี้มีแผนปล่อยปลา ลงพื้นที่โครงการบางระกำโมเดลกว่า 30 ล้านตัว โดยในวันนี้ปล่อยปลาลงคลองแยงมุม จำนวน 1,500,000 ตัว และในวันที่ 26 กันยายน ทางจังหวัดพิษณุโลกมีแผนปล่อยพันธุ์ปลา ที่บริเวณทุ่งแม่ระหัน ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก อีกจำนวน 5 ล้าน 5 แสนตัว
นายชำนาญ ชูเที่ยง ผอ.สำนักชลประทานจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ชลประทานพิษณุโลก สถานการณ์รอบแรกยังไม่มีจุดใดที่วิกฤตหรือได้รับผลกระทบรุนแรง จะเห็นว่าแม่น้ำยมสายเก่าที่รองรับน้ำจากจังหวัดสุโขทัยมาพิษณุโลก เราก็สามารถควบคุมน้ำได้ โดยใช้การป้องกันและการเสริมคันดินต่างๆ ที่สำคัญที่สุด คือทุ่งหน่วงน้ำบางระกำโมเดล ซึ่งพิษณุโลกเรามีการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำรองรับฤดูน้ำหลาก พื้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยคือ 265,000 ไร่ โดยดำเนินการเป็นไปตามแผนคือเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนวันที่ 15 สิงหาคม แต่น้ำเริ่มเข้าพื้นที่เราประมาณวันที่ 22 สิงหาคม เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวไปแล้ว เพราะฉะนั้นน้ำที่เข้ามาท่วมไม่ทำให้เกิดความเสียหายในกลุ่มพื้นที่การเกษตร โดยน้ำที่เริ่มเข้ามา วันที่ 22 สิงหาคม แต่น้ำเริ่มเข้าทุ่งบางระกำ วันที่ 26 สิงหาคม วันนี้ในพื้นที่หน่วงน้ำ ที่เราสามารถรองรับได้สูงสุด 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันน้ำเข้าพื้นที่หน่วงน้ำแล้ว 277 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ คิดเป็น 69% ยังมีช่องว่าง ส่วนหนึ่งที่อาจจะใช้เป็นพื้นที่รองรับปริมาณน้ำที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันที่ 10 -15 กันยายน 67 น่าจะมีฝนตกชุกในพื้นที่ภาคเหนือ วันนี้เราปล่อยปลาในพื้นที่ทุ่งบางระกำ ปีละประมาณ 10 ล้านตัว ตอนนี้เราปล่อยปลาไปแล้ว 5 ล้านตัว เป็นการปล่อยไปตามแผนเพื่อให้น้ำที่ท่วมในวันนี้ จนถึงช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ในช่วงนั้นเกษตรกร ก็สามารถจับปลาขายและบริโภค เป็นอาชีพเสริมรายได้ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อีกทางหนึ่ง