พิษณุโลก เทศบาลตำบลบ้านคลองวอนประชาชนร่วมมือคัดแยกขยะ 100% แก้ปัญหาขยะล้นเมือง ขยะเปียกนำมาทำเป็นปุ๋ย ขยะรีไซเคิลขายนำเงินช่วยเหลือสังคมได้ เผยทำมา 10 ปี ลดปริมาณขยะได้กว่าครึ่ง แต่ยังแก้ปัญหายั่งยืนไม่ได้ ในสถานการณ์ที่ไม่มีบ่อกำจัด สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าไม่ได้ ต้องขอความร่วมมือจาก ทุกครัวเรือน ในการแยกขยะ
วันที่ 4 กันยายน 2567 สถานการณ์ขยะล้นเมืองของจังหวัดพิษณุโลกเริ่มค่อยๆคลี่คลาย การบริการจัดเก็บด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มบริการให้ประชาชน ขยะที่จัดเก็บทุกวันนี้จนถึงสิ้นเดือนกันยายน อยู่ในสัญญาที่บริษัทเอกชนเดิม จะนำไปบำบัดที่จังหวัดนครสวรรค์ให้กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ขยะตกค้างยังคงมีอยู่เรื่อยๆ และท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้ ยังไม่สามารถ เปิดบ่อขยะกำจัดขยะในพิษณุโลกได้ หรือแม้แต่จะสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะก็ยังทำไม่ได้ ทำให้การคัดแยกขยะเป็นทางรอดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บางแห่งและเริ่มดำเนินการทันที เพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้น บางแห่ง เช่น เทศบาลตำบลบ้านคลอง ที่เริ่มทำการคัดแยกขยะมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี ทำให้ผลกระทบครั้งนี้ไม่มากเหมือนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ
นางนภาพร ตาแก้ว นายกเทศมนตรีตำบลบ้านคลอง อ.เมืองพิษณุโลก เปิดเผยว่า ปัญหาวิกฤตขยะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 30 แห่งของจังหวัดพิษณุโลก ต้องเผชิญปัญหาพร้อมกัน ตั้งแต่บ่อขยะเอกชนต้องปิดตัวลง ทำให้หลายพื้นที่หยุดจัดเก็บ ล่าสุด ณ วันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ กำลังแก้ไขสถานการณ์ด้วยการเริ่มการจัดเก็บ และนำส่งไปจำกัดที่จังหวัดนครสวรรค์ ตามสัญญาเดิมที่องค์กรท้องถิ่นทำไว้กับบริษัทไทยมีดี ที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้ แต่การแก้ปัญหาก็ยังไม่ยั่งยืนนัก วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและเป็นทางออกณเวลานี้คือต้องคัดแยกขยะ 100%
นายกเทศมนตรีบ้านคลอง เผยต่อว่า เรามีสัญญาณที่จะมีปัญหาเรื่องขยะมาตั้งแต่ช่วงปี 2557 ช่วงนั้นสถานีบำบัดขยะบึงกอกของเทศบาลนครพิษณุโลกที่อำเภอบางระกำ ได้ปิดตัวลง และตามด้วยบ่อขยะของเอกชนอีก 1 แห่ง ต่อมาท้องถิ่นส่วนใหญ่จึงมาทิ้งที่บ่อขยะของบริษัทไทยมีดี ที่ตำบลปากโทก อำเภอเมืองพิษณุโลก กระทั่งมาเจอปัญหานี้เมื่อบ่อขยะปิดตัวลงอีก แต่เทศบาลตำบลบ้านคลอง ได้เริ่มตระหนักแล้วว่า ถ้าไม่จัดการ แก้ปัญหาจะต้องเจอวิกฤตแน่นอนเพราะพื้นที่ของเทศบาลบ้านคลองนั้นเป็นพื้นที่ชุมชน และเป็นองค์กรขนาดกลาง ไม่สามารถจัดหาพื้นที่ทิ้งขยะของตนเองได้ แนวทางที่เป็นไปได้คือต้องการคัดแยกขยะ ในช่วง 10 ปีก่อนตั้งแต่ปี 2557 เทศบาลตำบลบ้านคลองได้เริ่มวิธีการรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนคัดแยกขยะนับแต่นั้นมา โดยที่บริเวณด้านหลังที่ทำการเทศบาลตำบลบ้านคลอง ได้จัดจุดคัดแยกขยะ จัดทำที่หมักขยะเปียกเป็นถังขนาดใหญ่จำนวน 13 ถัง สำหรับหมักขยะเปียกจากชุมชนซึ่งจะหมักไว้ 3 เดือน จะได้ประโยชน์จากน้ำหมักที่นำไปลดพืชผัก และทำปุ๋ยอินทรีย์แจกจ่ายให้กับประชาชน อีกส่วนหนึ่งเป็นขยะแห้งขยะรีไซเคิล ก็จะรวบรวมไว้เพื่อนำส่งบริษัทคัดแยกขยะวงศ์พาณิชย์ นำเงินรายได้มาใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะที่ผ่านมาได้ใช้แล้วโดยการจัดซื้อและเปลี่ยนโถส้วมให้กับผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในเขตเทศบาลตำบลบ้านคลอง ส่วนขยะที่เหลือที่ไม่สามารถดำเนินการรีไซเคิลได้ ก็นำไปทิ้งที่บ่อฝังกลบ ซึ่งผลการดำเนินงานในอดีตที่ผ่านมาจากเดิมเทศบาลบ้านคลองต้องเคยจัดเก็บขยะวันละ 30 ถึง 40 ตัน แต่ปัจจุบันก่อนมีปัญหาบอกเอกชนฝังปิดตัว เทศบาลตำบลบ้านคลองมีขยะที่ต้องจัดเก็บวันละ 9-13 ตันเท่านั้น เมื่อเทียบกับชุมชนใหญ่ๆเช่นเทศบาลนครพิษณุโลกวันละ 100 ตัน หรืออบต.ท่าโพธิ์ วันละประมาณ 50 ตัน ถือว่าการแยกขยะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องจำกัดได้จำนวนมาก
โดยหลังจากปัญหาการปิดขยะที่ผ่านมาเกือบ 10 วัน เทศบาลตำบลบ้านคลอง มีขยะพื้ที่เก็บในพื้นที่ ประมาณ 20 ตัน โดยเทศบาลตำบลบ้านคลองได้จัดจุดทิ้งขยะเฉพาะกิจให้กับชุมชนต่างๆกระจายทั่วจำนวน 7 จุด โดยขอความร่วมมือจากประชาชน ในการแยกขยะเปียก ขยะรีไซเคิลและขยะที่ต้องการทิ้งจริงๆให้ชัดเจน จากนั้นจะมีรถขนขยะจากเทศบาลตำบลบ้านคลองไปเก็บขยะต่างๆเหล่านั้นมาไว้ที่จุดพักขยะของเทศบาลตำบลบ้านคลองขยะเปียกก็จะแยกนำขึ้นสู่ถังหมัก ขยะรีไซเคิลก็แยกกองไว้รอเวลา วงษ์พาณิชย์มารับซื้อ ส่วนขยะอันตราย อาทิอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ของผู้ป่วย หลอดไฟ จะจัดนำส่งในศูนย์กำจัดขยะของอบจ. พิษณุโลก
นางนภาพรเผยต่อว่าท้องถิ่นขนาดเล็กนั้นไม่สามารถหาที่จัดการขยะด้วยตนเองได้โดยเฉพาะท้องถิ่นชุมชนชานเมือง ที่มีบ้านจัดสรรมีหอพักมีสถานประกอบการหรือมีห้างสรรพสินค้า การจะหาบ่อฝังกลบนั้น ไม่มีทางทำได้เลย วิธีการที่จะทำได้อย่างยั่งยืนคือต้องแยกขยะ 100%
สำหรับบรรยากาศวันนี้ที่จุดรวบรวมขยะของเทศบาลตำบลบ้านคลองนั้นตลอดทั้งวันมีประชาชนนำขยะ ที่คัดแยกแล้ว มาส่งที่เทศบาล โดยขยะเปียกจะเทลงใส่ถังดำจำนวนมากรอพักไว้เพื่อขนขึ้นสู่ถังหมักถังใหญ่จำนวน 13 ถัง ส่วนขยะรีไซเคิลก็จะนำไปกองรวมอยู่ด้านหลัง คงเหลือเฉพาะขยะที่ไม่สามารถจำกัดได้ก็จะรอขนส่งไปให้บริษัทเอกชนเพื่อส่งกำจัดที่จังหวัดนครสวรรค์ต่อไป
//////////