ดำรงศักดิ์ เป๊กทอง ชายที่ใช้ยาเหลือใช้ปกป้องชีวิตและสายน้ำ

ที่ห้องเก็บยา เป็นเพียงห้องเล็ก ๆห้องหนึ่งที่ที่อาจารย์และลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งจะใช้เวลาเช้าและเย็นก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียนมารวมตัวกันคัดแยกยาเหลือใช้ ที่ถูกส่งมาจากกล่องรับบริจาค จากการส่งต่อมาทางจะผู้คนที่รับรู้โครงการจากทั่วประเทศ

เรามีนัดกับ ดร.เภสัชกรดำรงศักดิ์ เป๊กทอง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อมาดูการทำงานของคนกลุ่มดังกล่าว แสงแดดเริ่มหมดลงน่าจะใกล้ค่ำแล้ว การคัดแยกยายังคงดำเนินการต่อไป เพื่อให้เสร็จให้เร็วเพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการส่งต่อไปยังกลุ่มเป้าหมายโรงพยาบาลชายแดนที่ขอเข้ามาจำนวนมาก

ระหว่างทำการคัดแยกยาในห้อง มีสาวน้อยตัวเล็กทราบว่า เป็นลูกสาวของดำรงศักดิ์ เธอนั่งรอคุณพ่อที่มุมห้องเงียบ ๆด้วยท่าทีที่รับรู้ว่า เป็นงานของพ่อทีทำยังไม่เสร็จ และพี่ ๆ เภสัชที่ เข้ามาช่วยคัดแยกก็คงคล้ายกัน พวกเขาทำแบบนี้มา 4 ปี คัดแยกยาราว 3 ล้านเม็ด คัดทิ้งเป็นล้าน และมีมูลค่ายาที่สามารถใช้ได้กกว่า 4 ล้านบาท และดูเหมือนภารกิจย้ายภูเขา ขุดมหาสมุทรของคนเก็บยาเหลือใช้ จะไม่ใช่งานที่เสร็จในพรุ่งนี้เช้า

ดร. เภสัชกร.ดำรงศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า แนวคิดเรื่องการจัดการยาเหลือใช้มาจาก ชมรมจักรยานวันอาทิตย์ในจังหวัดพิษณุโลกที่ทราบข่าว ความขาดแคลนยาของโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก จึงได้มีการรวมตัวกันปั่นจักรยานทุกวันอาทิตย์ เพื่อรับบริจาคยาที่เหลือใช้ตามบ้านเรือนที่ปั่นไป เมื่อได้ยามาจำนวนมาก ไม่มีการคัดแยกทางชมรมได้มาขอความร่วมมือทางคณะเภสัชศาสตร์ มน. ความพร้อมของเราก็คือ เรามีสถานที่ที่สามารถรองรับการจัดการคัดแยก อีกทั้งมี น้องนักศึกษาเภสัชกรที่เป็นกำลังหลักในการคัดแยก เราจึงได้รับมาเป็นทีมคัดแยก จนพัฒนาการมาเป็นโครงการ

กิจกรรมนี้สอดคล้องกับพันธกิจในการบริการวิชาการที่ตอบสนองต่อความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยหล่อหลอมให้นิสิตได้ฝึกคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รู้จักการทำงานร่วมกันกับคนในชุมชน ได้เล็งเห็น ถึงความสำคัญของวิชาชีพเภสัชศาสตร์ต่อการจัดการปัญหายาเหลือใช้ในชุมชน

อันจะนำไปสู่การจัดการยาเหลือใช้ ที่เป็นต้นแบบสามารถนำไปต่อยอดใช้ในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ โดยในระยะเวลา 4 ปี ที่ดำเนินกิจกรรมรับยามือสองหรือยาเหลือใช้ ตามบ้านเรือนประชาชนในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยนเรศวร และชุมชนต่างๆทั้งจังหวัด ซึ่งสามารถจัดการยาได้มากถึง 6 ล้านเม็ด และ 1 แสนหน่วย ที่เป็นยาน้ำ ยาฉีดยาสูดพ่น ยาแผ่นแปะ โดยยา 6 ล้านเม็ดนี้

ส่วนใหญ่เป็นยาสามัญประจำบ้าน และยารักษาโรคติดต่อที่ไม่เรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ

สำหรับเป้าหมายหลักองการ นำยาเหลือใช้ในชุมชนมาคัดแยก เพื่อที่จะนำส่งโรงพยาบาลที่ขาดแคลน ซึ่งตอนนี้ เราก็นำส่งรพ.ชายแดนหลายแห่ง เช่น รพ.อุ้มผาง รพ.ท่าสองยาง จ.ตาก รพ. วัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.เชียงใหม่

ซึ่งก็ยังมีความต้องการอย่างมาก ในเวลานี้ อีกส่วนหนึ่งที่ผู้คนในสังคมยังไม่รับรู้คือแต่ละปี มียาเหลือใช้จำนวนมาก ที่ถูกทิ้งลงกองขยะ ฝังกลบลงในดิน และปนเปื้อนในแหล่งน้ำ โดยมีการศึกษาว่า ยาจำนวนมากที่ทิ้งลงดินและแหล่งน้ำนั้นมีผลโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะยาเป็นสารเคมีที่จะลายลงสิ่งแวดล้อมและอาจอยู่ได้นาน จนสุดท้ายจะกลับมาสู่ สิ่งมีชีวิต และสัตว์น้ำที่เราบริโภค

เพราะการทำลายยาเหลือใช้ ต้องใช้การเผาโยอุณภูมิสูงกว่า 800 องศา การทำลายก็มีต้นทุนและค่าใช้จ่าย ซึ่งโชคดีที่เรามีบริษัท เอ็น15 เทคโนโลยี จำกัดอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ที่ยินดีรับมอบยาเสื่อมคุณภาพ ยาคัดทิ้งไปเผาทำลายให้ 4 ปีที่ผ่านมากถือว่า จัดการทำลายยาไปได้กว่า 3 ล้านเม็ดแม้เป็นส่วนเล็กๆ แต่ก็ถือว่า เป็นแนวทางในการจัดการยาเหลือใช้เป็นต้นแบบได้

ประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมรวมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่ง 3 ใน 4 เป็นการนำเข้ายารักษาโรค และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มชีวเภสัชภัณฑ์ ข้อมูลจากวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุศรีอยุธยา ระบุว่า ในปี 2562 ตลาดยาในประเทศไทยมีมูลค่ารวม 1.84 แสนล้านบาท ขยายตัว 4.2% จากปีก่อนหน้า มีขนาดตลาดใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองเพียงอินโดนีเซียเท่านั้น นี่คือตัวเลขของ 1 ในปัจจัย 4 ที่ประเทศนี้ใช้ดูแลความเจ็บป่วยผู้คน

และต้องยอมรับว่ามาตรการการดูแลสุขภาพ 3 สิทธิสำคัญคือสิทธิประกันสุขภาพทั่วหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการในการรักษาตัว ครอบคลุมคนไทยแทบจะทุกคน ทำให้การเข้าถึงยาของแต่ละคนง่ายขึ้นมากและมีมากขึ้น เรื่อย ๆ

นี่คือเรื่องราวคนเล็กหัวใจใหญ่ในรั้วมหาวิทยาลัยท้องถิ่นที่คิดและลงมือภายใต้ข้อจำกัดทุกประการ วันนี้ปริมาณยาที่มากขึ้น พื้นที่จัดส่งมากขึ้น ค่าขนส่งต่อไปยังรพ.ชายแดน และการส่งยาเผาทำลายแม้กระทั้งอาหารและน้ำข้าวปลาของทีมคัดแยกยายังคงเป็นสิ่งที่ ดำรงศักดิ์ต้องคิดในทุกวัน แต่เขาก็ไม่เคยร้องขอสิ่งใดแค่หวังว่า สถานที่ศึกษาที่สอนเภสัชกรทั่วประเทศกำลังช่วยกัน และหวังว่ายาเหลือใช้จะถูกหมุนไปรับใช้ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และไม่ลงถังขยะแบบสูญเปล่าไปทำลายสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือยาทุกเม็ดคือ ภาษีชาติที่กำลังหายไปพร้อมกับยาเหล่านั้น

#โครงการยาเหลือใช้มหาวิทยาลัยนเรศวร #ดรเภสัชกรดำรงศักดิ์เป๊กทอง #คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ขอเชิญชวนท่านมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการยาเหลือใช้อย่างเป็นระบบ กับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยการคืนยาเหลือใช้ มาส่งที่ร้านยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หรือ สอบถามได้ที่ 055963747

สุธีร์ เรืองโรจน์ รายงาน
Paul Wonder ถ่ายภาพ

 

แสดงความคิดเห็น