พิษณุโลก แกนนำชาวนา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก กว่า 40 คนออกมาเคลื่อนไหวยื่นหนังสือเรียกร้องผู้ว่าราชการ จ.พิษณุโลก คัดค้านไม่เอาโครงการปุ๋ยคนละครึ่งของรัฐบาล ชาวนาต้องการใช้รัฐบาลช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 20 ไร่ เหมือนเดิม ไม่ต้องการปุ๋ยไร่ละ 500 บาท แต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 9 ก.ค.67 ที่บริเวณ หน้าศาลากลางจังหวัด พิษณุโลก กลุ่มเกษตรกรชาวนาจังหวัดพิษณุโลก นำโดย นายสมยงค์ จ้อยทอง ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอบางระกำ /สมาชิกสภาเกษตรจังหวัดพิษณุโลก แกนนำชาวนา อำเภอบางระกำ และตำบลงิ้วงาม อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก จำนวนกว่า 40 คน เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และ ประธานสภาเกษตรสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ไม่เห็นด้วยกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่งของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ กับเกษตรกร ไร่ละ 500 ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ โดยเกษตรกรผู้ทำนาของอำเภอบางระกำ ต่างไม่เห็นด้วยต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว ไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 20 ไร่ มากกว่า ทั้งนี้ นายนิสิต สวัสดิเทพ ปลัดจังหวัดพิษณุโลก เป็นผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และ นายทวีศักดิ์ ทิมคล้าย หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก เป็นผู้แทนรับหนังสือในครั้งนี้
โดยหนังสือระบุว่า ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบช.)ได้มีมติเห็นชอบหลักการโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตลดต้นทุนการผลิตข้าวแก่เกษตรกร โดยจะสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภัณฑ์ ไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ให้เกษตรกรผู้ปลูกปี พ.ศ 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงินงบประมาณ 29,994.3445 ล้าน โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)รับผิดชอบค่าใช้จ่าย เกษตรกรผู้ทำนา ในพื้นที่ จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอบางระกำ ไม่เห็นด้วยกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เกษตรกรต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 20 ไร่ และไม่ต้องการปุ๋ยไร่ละ 500 บาท จึงขอพิจารณาช่วยเหลือชาวนาเป็นค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 20 ไร่ เช่นที่เคยช่วยเหลือในปีที่ผ่านมา
นายสมยงค์ จ้อยทอง ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอบางระกำ /สมาชิกสภาเกษตรจังหวัดพิษณุโลก แกนนำชาวนา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการคนละครึ่ง โดยเห็นด้วยกับโครงการเดิมที่ทางรัฐบาลส่งเงินช่วยเหลือผ่านชาวนา เข้าสู่บัญชีธนาคาร ธ.ก.ส. ให้กับชาวนาโดยตรง ซึ่งชาวนา ใช้เงินนี้ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต แต่ถ้าเป็นการกำหนดปุ๋ยแบบนี้ชาวนาต้องไปซื้อปุ๋ย ที่ร้านขายปุ๋ย ต้องหาเงินไปเติม ซึ่งปัจจุบันปุ๋ยแพงลูกละ 500 บาทไม่มีอยู่แล้ว ชาวนาก็ต้องหาเงินไปเติมเพื่อจะได้ปุ๋ยออกมาใช้ ซึ่งปุ๋ยที่นำมาใช้จะตรงสเปคกับที่ชาวนาใช้หรือไม่ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ชาวนาอำเภอบางระกำออกมาเรียกร้องในครั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลช่วยดูแลพี่น้องเกษตรกร ซึ่งช่วงนี้เราก็ทราบดีว่าราคาข้าวพออยู่ได้รัฐบาลจุนเจือเข้ามาอีกชาวนาจะได้ลืมตาอ้าปากได้ ไม่เช่นนั้นชาวนาจะต้องอยู่แบบนี้ ถ้ารัฐบาลทอดทิ้ง นำโครงการนี้เข้ามาผมไม่ได้มองว่าเป็นการช่วยเหลือ มองว่าเป็นการทำลายชาวนาโดยตรง เพราะจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชาวนาต้องหาเงินมาเติมในการซื้อปุ๋ย และเชื่อว่าหลายจังหวัดก็จะเห็นด้วยกับเกษตรกรอำเภอบางระกำที่มาเรียกร้อง คือของดีที่ดีอยู่แล้วก็ควรทำต่อไป รัฐบาลอย่าคิดว่า อันนี้เงินของ โครงการของรัฐบาลเก่าไม่เอา เอาโครงการใหม่เข้ามาต้องมองว่าเกษตรกร ได้ประโยชน์ จากโครงการด้วย
ชาว อ.บางระกำเกือบ 100% มีอาชีพทำนา เราทำนากันเยอะมากที่มาของบางระกำโมเดล ได้ประโยชน์ มีแต่คนชื่นชม แต่พอโครงการใหม่ออกมา แต่เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องอะไรได้มาก ก็เลยอาศัยแกนนำ สมาชิกสภาเกษตรออกมาเรียกร้อง ซึ่งโครงการนี้จะมีการบังคับใช้ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567ก็คิดว่า ยังทันที่ออกมาเรียกร้องในเวลานี้ แต่หากว่ารัฐบาลยังยืนยันต้องใช้โครงการนี้ ก็เชื่อว่าชาวนาอาจจะไม่เข้าร่วมเพราะว่าโครงการปุ๋ยชีวภาพชีวมวล ซึ่งเป็นปุ๋ยราคาไม่แพงแต่การใช้ต่างกันเพราะพื้นที่ อ.บางระกำไม่เหมือนพื้นที่ทางภาคอีสานเขามีการพักดินก่อนทำนาด้วยทำนาน้ำฝน ที่นามีการพักดินปุ๋ยอะไรต่างๆก็สามารถใช่ได้ แต่พื้นที่บางระกำทำนาปรัง นาปีต้องหาปุ๋ยละคุณภาพสูง เพราะว่า 3-4 เดือนทำ เราต้องใช้ปุ๋ยเคมี ตอนที่มาส่งเสริมปุ๋ยชีวภาพชีวมวลเพราะว่าเขาไม่รู้คือสภาพพื้นที่ว่าสภาพดินเป็นอย่างไร ปริมาณปุ๋ยในดินที่เติบโตขึ้นมา แต่ของเรามีการทำนากันต่อเนื่องยิ่งมีน้ำยิ่งทำงานหนักต่อเนื่อง
เราต้องยอมรับ จะให้ชาวนาพักไม่ให้ทำนา ไม่ควรพูดเพราะเป็นอาชีพหลักของเขา จะให้เขาทำอาชีพอะไร เขามีน้ำมีต้นทุนมีเครื่องมือ เขาก็ต้องทำนา หน้าฝนน้ำก็ท่วมสังเกตว่าบางระกำโมเดล ที่นำน้ำมาเก็บพักไว้เขาไม่ต้องทำอะไรเลย พอน้ำแห้ง เขาก็ปั่นดินแล้วก็หว่านข้าวทำนาได้เลย แล้วมาใส่ปุ๋ยอีกทีตอนช่วง ข้าวท้อง ซึ่งก็เป็นข้อดีของบางระกำโมเดล ที่มีน้ำทำนา แต่ผมก็ตำหนิรัฐบาลชุดนี้ที่เปลี่ยนโครงการ ซึ่งรู้ไม่จริง เพราะไม่ได้ที่เป็นคนในพื้นที่
หลังจากยื่นเสร็จหนังสือชาวนาได้ยุติเวลา 09.30 น และเดินทางกลับภูมิลำเนา