“มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม”  เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชน

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่หอประชุมศรีวชิรโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก พลตำรวจโท พัฒนวุธ อังคะนาวิน ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่กระทรวงยุติธรรม ได้เป็นประธานในการเปิด “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สิน ทั้งระบบให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล ร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน และไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก ตลอดจนนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่กำหนดกรอบในการแก้ไขปัญหาที่จะเร่งดำเนินการ ลดภาระพี่น้องเกษตรกร ด้วยการพักหนี้เกษตรกร ตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประคองภาระหนี้สิน และต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชน ที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นฟูและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง

โดยการดำเนินงานในครั้งนี้มีภาคีเครือข่ายสถาบันการเงินที่เข้าร่วมจำนวน 10 สถาบัน คือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) / ธนาคารออมสิน / ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)/ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) / ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)/ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) /บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด/บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) /บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจ เค จำกัด และบริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ แบ่งออกเป็น การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย และการสร้างการตระหนักรู้ เกี่ยวกับการวางแผนและสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชน การจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ ให้คำปรึกษาทางกฎหมายหรือการเงินจำนวน 15 หน่วยงาน การให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษาโดยเชิญชวนลูกหนี้ จำนวน 3611 ราย โดยแยกเป็นลูกหนี้ก่อนฟ้อง 2583 ราย และลูกหนี้หลังคำพิพากษา จำนวน 1028 ราย รวมทุนทรัพย์กว่า 89 ล้านบาท

พลตำรวจโท พัฒนวุธ อังคะนาวิน ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่กระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาล ต้องการแก้ปัญหาหนี้สิน ทั้งระบบให้กับประชาชน ทั้งหนี้สินในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงยุติธรรมมีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพราหนี้สินมันทำให้พี่น้องประชาชนมีความทุกข์ เพราะฉะนั้นอะไรที่กลไกของกระทรวงยุติธรรมทั้งระบบเลย ทั้งกรมสิทธิเสรีภาพ กรมบังคับคดี และยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด จะต้องวิ่งเข้าหาประชาชน โดยเฉพาะปัญหาที่สร้างความทุกข์ร้อนเกี่ยวกับปัญหาหนี้สิน ซึ่งแต่ละจังหวัดที่เราเดินหน้าแต่ละจังหวัดก็ 2-3 พันราย มูลค่าหลักร้อยล้าน แต่ละจังหวัด โดยรวมคิดว่าปัญหาหนี้สินของประชาชน ไม่ว่าจะภาคเกษตร ภาคธุรกิจ หรือเรื่องส่วนตัว นี่มีเยอะมากพี่น้องประชาชนยังมีความทุกข์ในเรื่องหนี้สินเยอะมาก

////////////////////////

 

แสดงความคิดเห็น