สสว. จัดงาน THAI SME-GP Road Show พิษณุโลก เชื่อม SME เหนือ สู่ตลาดรัฐ-เอกชน

วันนี้( 28 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอประชุมบึงราชนก จ.พิษณุโลก นายพชรเสฎฐ์ บุญศิริสาริศา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในกิจกรรม  THAI SME-GP Road Show จ.พิษณุโลก มุ่งขยายโอกาส SME พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เข้าสู่ตลาดภาครัฐ เพื่อช่วยขยายโอกาส SME ให้เข้าสู่ตลาดภาครัฐเพิ่มขึ้น ในปี 2567 สสว. ดำเนินการ เสริมสร้างความพร้อมให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในพื้นที่ทั่วประเทศ  นายพชรเสฎฐ์ บุญศิริสาริศา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า จังหวัดพิษณุโลกรวมถึงกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย ตาก นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี และกำแพงเพชร นับเป็นพื้นที่ที่มี SME เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยเฉพาะพิษณุโลก เป็นหนึ่งในจังหวัดศูนย์กลางทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของภูมิภาค โดยมี SME จำนวน 36,874 กิจการ เกิดการจ้างงาน 100,544 คน ที่สำคัญมีส่วนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในกิจการที่เป็นนิติบุคคล คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 47,617 ล้านบาท

ในส่วนของตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จังหวัดพิษณุโลก ยังเป็นศูนย์รวมของผู้ซื้อภาครัฐ ที่มีทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ฯลฯ จำนวน 760 หน่วย ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการรวมมูลค่าถึง 8,541 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 47.3 เป็นการจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP ของ สสว. และเนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจะเกิดขึ้นทุกปี การที่ สสว. มีการพัฒนาศักยภาพเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับ SME และจัดกิจกรรม THAI SME–GP Road Show เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ซื้อ ได้พบกับ SME ที่เป็นผู้ขายสินค้าและบริการ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้ SME สามารถขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่หน่วยงานได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ เพื่อช่วยให้การทำงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้อง และเกิดประสิทธิภาพในการร่วมส่งเสริม สนับสนุน SME ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ต่อไป

นางสาวธัญยธรณ์ จิรโชควรพัฒน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนส่งเสริม SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่ สสว. ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ดำเนินมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 ซึ่งเริ่มดำเนินการนับตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อสร้างโอกาสให้ SME เข้าสู่ตลาดภาครัฐที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.2-1.5 ล้านล้านบาทต่อปี โดยมาตรการ THAI SME-GP เป็นการให้สิทธิประโยชน์กับ SME ในรูปแบบของแต้มต่อในการแข่งขัน ซึ่ง SME ที่ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP กับ สสว.

จะได้รับแต้มต่อไม่เกินร้อยละ 10 และหากผู้ประกอบการ THAI SME-GP ขายสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะได้รับแต้มต่อไม่เกินร้อยละ 15 นอกจากนี้ การจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการ SME เป็นลำดับแรกก่อน

สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดพิษณุโลก ตัวเลข ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 มี SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP จำนวน 2,391 ราย ในปี 2566  มี SME ที่ขึ้นทะเบียน ได้เป็นคู่ค้าภาครัฐ จำนวน 1,255 ราย รวมมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้าง 6,819 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อ/จ้างจากหน่วยงานของรัฐใน พื้นที่พิษณุโลก คิดเป็นร้อยละ 35.21 และจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 64.79

ดังนั้น เพื่อช่วยขยายโอกาส SME ให้เข้าสู่ตลาดภาครัฐเพิ่มขึ้น ในปี 2567 สสว. ดำเนินการ เสริมสร้างความพร้อมให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในพื้นที่ทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ SME ด้วย การอบรมความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก และจัดงานส่งเสริม/เชื่อมโยงตลาดภาครัฐ หรืองาน THAI SME-GP Roadshow เพื่อเปิดโอกาสให้ SME ซึ่งเป็นผู้ขาย ได้พบกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เป็นผู้ซื้อ ซึ่ง ภาคเหนือ กำหนดจัดงาน 2 ครั้ง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และจัดกิจกรรมครั้งที่2 จังหวัดพิษณุโลก ในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ SME ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพ มีโอกาสนำเสนอสินค้า และบริการให้หน่วยงานภาครัฐ-ภาคเอกชน สำหรับ SME ที่ร่วมออกบูธแสดงสินค้าในครั้งนี้มีจำนวนกว่า 30 กิจการ มีสินค้าและบริการ อาทิ ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เครื่องใช้อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องเขียน เฟอร์นิเจอร์ การบริการติดตั้งระบบไฟฟ้า เป็นต้น

 

ภายในงานยังมีกิจกรรมเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนกับสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคาร SME D Bank ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หน่วยงานพันธมิตร อาทิ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 7 สำนักงานพาณิชย์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการบรรยายพิเศษ และเสวนาให้ความรู้ด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยวิทยากรจาก สำนักงานคลังจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 10 สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัด พิษณุโลก และ สรรพากรพื้นที่ มาร่วมถ่ายทอดความรู้

อย่างไรก็ดี สสว. เชื่อว่ากิจกรรม THAI SME-GP Roadshow จังหวัดพิษณุโลก ครั้งนี้จะเป็น ประโยชน์กับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ให้มีศักยภาพและขีด ความสามารถในการแข่งขัน ประสบความสำเร็จในการขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็น กำลังสำคัญของเศรษฐกิจในระดับพื้นที่และระดับประเทศต่อไป

//////////

 

แสดงความคิดเห็น