ชาวบ้าน บ้านท่าโพธิ์ ต.จอมทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก สืบสานประเพณีหล่อน้ำตาลทรายเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดีแบบโบราณ ที่ใช้แม่พิมพ์ไม้อายุกว่า 100 ปี เพื่อนำไปใส่บาตรถวายพระในวันทำบุญสลากภัต และเข้าพรรษา ที่ปัจจุบันแทบจะเลือนหายไปตามกาลเวลา
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ที่ ศูนย์เรียนรู้บ้านท่าโพธิ์ ม.8 ต.จอมทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ได้ร่วมกันสืบสานการหล่อน้ำตาลในงานบุญสลากภัต ซึ่งหาดูได้ยากและใกล้จะสูญหายไปตามกาลเวลา โดยมีนายพุฒิพงศ์ สิงห์โต ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลจอมทอง กำนันตำบลจอมทอง พร้อมด้วยนายอนุชา เรืองหิรัญ ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก ได้นำแบบพิมพ์ไม้แกะสลักของต้นตระกูลที่ยังคงเก็บรักษาไว้อายุกว่า 100 ปี มาร่วมหล่อน้ำตาล เป็นรูปสัตว์ในวรรณคดีแบบโบราณ ซึ่งใช้ในงานบุญสลากภัตรหรือเทศน์มหาชาติ
นายพุฒิพงศ์ สิงห์โต ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลจอมทอง กำนันตำบลจอมทอง ได้กล่าวว่า ภูมิปัญญาไทย หล่อน้ำตาล” เครื่องติดกัณฑ์เทศน์และของถวายพระ บุญสลากภัตร ในอดีตน้ำตาลทรายหายากและการถวายภัตรหารอาหารให้พระไว้ได้ฉันนานๆอย่าง เช่น น้ำตาลทรายเพื่อให้พระได้ฉันกับน้ำปานะ เช่น น้ำชา จึงเกิดภูมิปัญญาไทยได้คิดค้นการนำไม้มาแกะเป็นรูปต่างๆ เช่น สัตว์ในนิยาย หนุมาน ครุฑ สิงห์ เจดีย์ ไก่ ฯลฯ
ซึ่งแม่พิมพ์ที่นำมาใช้นี้เป็นแม่พิมพ์โบราณ สืบทอดกันมา อายุ 100 กว่าปี เป็นการอนุรักษ์วิธีแบบโบราณ แม่พิมพ์จะเรียกว่า “พิมพ์”หรือ “พุ่ม” ถ้าเป็นพุ่มส่วนใหญ่จะใช้ไม้แกะประกอบกันสี่ด้าน จะมองออกมาได้สี่ด้านถ้าเป็น “พิมพ์” จะใช้ไม้แกะ สองด้านประกบมองได้สองด้าน
โดยใช้วิธีกวนแบบโบราณ ผสมสีผสมอาหารเล็กน้อยให้ดูมีสีสัน ใช้น้ำตาลทรายเคี้ยวกับน้ำจนจับตัวได้ที่ กรอกลงไปในพิมพ์ หรือ พุ่ม วิธีการสำคัญที่เป็นเทคนิคเคล็ดลับ ที่บางคนไม่เคยทำก็คือ ก่อนจะหยอดน้ำตาลลงไปต้องเอา พิมพ์ หรือ พุ่ม แช่น้ำก่อน ถ้าไม่ทำแบบนี้ น้ำตาลจะแกะออกยาก และจะแตกหักเสียหาย วันนี้ก็เลยมาโชว์สาธิตการทำเพื่อเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังๆ ได้อนุรักษ์ไว้ ซึ่งเรื่องราวในอดีตภูมิปัญญาของคนในอดีต กำลังจะหมดไป เด็กสมัยใหม่ไม่ได้เห็นภาพ เรื่องราวนี้จะเป็นแค่ความทรงจำของคนในอดีต และจะเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของคนปัจจุบัน
///////////////////////