ชาวบ้านต.ทับยายเชียงร่วมประเพณียกธงวัดหนองมะคัง หลังสงกรานต์

พิษณุโลก ชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน  ต.ทับยายเชียง อ.พรหมพิราม สืบสานประเพณียกธงหลังสงกรานต์ ขอพรเทวดาขอฟ้าขอฝนตามฤดูกาล

วันที่ 18 เมษายน 67 ณ วัดหนองมะคัง ตำบลทับยายเชียง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก นายณรงค์ชัย บุตรตะวงค์ นายอำเภอพรหมพิราม  เป็นประธานเปิดงานประเพณียกธงหลังสงกรานต์ ประจำปี 2567 ประเพณีที่เก่าแก่ มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์เอาไว้ โดยความร่วมมือของราษฎรตำบลทับยายเชียง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ที่มีความเชื่อกันว่า หากนำธงมาร่วมประเพณียกธงหลังสงกรานต์แล้ว จะได้บุญได้กุศล มีความสุข ทำมาค้าขึ้น ทำอะไรก็เจริญรุ่งเรือง บางคนมีความเชื่อว่าจะได้อุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้ขึ้นสวรรค์ บางคนมีความเชื่อว่าเพื่อจะได้รับพรจากเทวดา หรือได้รับรู้ว่ามนุษย์โลกได้เสร็จการละเล่น และเป็นการขอฟ้า ขอฝน เพื่อจะได้ทำไร่ทำนา เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม

น.ส.บุรัสกร จำปาศักดิ์ ปราชญ์ ชาวบ้าน บอกว่า งานประเพณียกธงหลังสงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ ที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ หลังวันสงกรานต์ ที่ชาวบ้านตำบลทับยายเชียง ได้ร่วมกันอนุรักษ์เอาไว้ ทั้งนี้ตามประวัติความเป็นมาของประเพณีนั้น จะจัดขึ้นหลังจากการสิ้นสุดการเล่นน้ำสงกรานต์ในแต่ละปี และวันสุดท้ายของการเล่นสงกรานต์ก็จะมีการทำธง ที่บ้าน ชาวบ้านทั้ง 6  หมู่บ้าน ช่วยกันตกแต่งประดับประดาขึ้น โดยใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่ที่สุดเท่าที่หามาได้ ผูกด้วยสิ่งของที่จะนำมาถวายวัด เป็นเงิน กลุ่มเครื่องใช้ ผ้าทอ พร้อมทั้งตกแต่งอย่างสวยงามยกขบวนแห่มารวมกัน  ที่บริเวณวัดหนองมะคัง เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่าการยกธงเป็นการขอพรจากเทวดา และการขอฟ้าขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เพื่อจะได้ประกอบอาชีพการเกษตร ทำไร่ ทำนา และเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ส่งผลให้การค้าขาย เจริญรุ่งเรืองมีแต่ความสุข ความเจริญในชีวิต

บรรยากาศภายในงาน  นายณรงค์ชัย บุตรตะวงค์ นายอำเภอพรหมพิราม ได้เริ่มเป็นประธานจุดโต๊ะหมู่บูชาที่อยู่บนเกวียน เพื่อแสดงให้เห็นว่า เกวียนเป็นพาหนะการอพยพของกลุ่มชาติพัน  ในเกวียนประกอบด้วยสิ่งสำคัญของวัดหนองมะคัง อาทิ  หลวงพ่อรุ่งเรือง อายุกว่า 700 ปี พระครูศิลขันวิสุทธ หรือหลวงปู่ขำ ผู้สร้างวัดหนองมะคัง  พ่อปู่ขุนเด่น  มาลัยสักการะ ก่อนร่วมกับชาวบ้านยกธงหลังสงกรานต์ และร่วมร้องเพลง เต้นรำอย่างสนุกสนานเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชนอีกด้วย

/////

 

แสดงความคิดเห็น