วันนี้ (19 ก.พ.) นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ส.ส.พิษณุโลก เขต 4 พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชลประทาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.บางระกำ ผู้นำชุมชน ร่วมสำรวจประตูระบายน้ำท่านางงาม (ปตร.ท่านางงาม) ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก หลังจากทางชลประทานได้เปิดน้ำจากเขื่อนนเรศวร เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่บางระกำโมเดล ได้นำน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวในพื้นที่ตามโครงการฯ ก่อนในช่วงฤดูน้ำหลาก ก็จะเป็นกักเก็บน้ำไว้ ในพื้นที่ 265,000 ไร่ แต่ในช่วงนี้หลังทางชลประทาน ต้องเปิดน้ำเข้าสู่พื้นที่เพิ่ม เพื่อให้พื้นที่ท้ายโครงการ โดยเฉพาะ ต.ชุมแสงสงคราม ต.คุยม่วง ได้รับน้ำ แต่กลับทำให้เกษตรกรในพื้นที่ ต.ท่านางงาม บางส่วนถูกผลกระทบน้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่เกษตรกรได้ ทำให้หลายหน่วยงาน ได้มาเร่งสำรวจและหาทางช่วยเหลือ
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ส.ส.พิษณุโลก เขต 4 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันนี้หลังจากได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรว่า น้ำได้ท่วมพื้นที่เกษตรกรของ ต.ท่านางงาม จำนวน 2 จุด โดยเฉพาะบริเวณคันดินที่ต่ำ ทำให้น้ำที่ทางชลประทานจะปล่อยให้เกษตรในพื้นที่ท้ายน้ำ โดยเฉพาะ ต.ชุมแสงสงคราม และ ต.คุยม่วง ของ อำเภอบางระกำ โดยปัจจุบันนั้นปริมาณน้ำที่ประตูน้ำท่านางงาม อยู่ที่ 38.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) แต่ต้องเก็บน้ำเพิ่มเติมเพื่อให้มวลน้ำถึงพื้นที่ท้ายน้ำอีก เป็น 39.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.)โดยจากการสำรวจแล้วพบว่า 2 จุดดังกล่าวที่มีคันดินตลิ่งต่ำกว่าทั่วไป ส่งผลให้น้ำท่วมนาข้าวและสวนพริก ของชาวบ้านเสียหาย เบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาจะประสานทหารหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค.34)ให้นำเครื่องจักร มาช่วยขุดดินมาถมตลิ่งที่ต่ำให้ได้มาตรฐานและสูงเท่ากับคันดินทั่วไป พร้อมกับมาตรการแก้ไขระยะยาวจะทำการสำรวจคันดินจากประตูระบายน้ำท่านางงาม ไปจนถึง จ.สุโขทัย ระยะทาง 28 กม.ว่าบริเวณจุดใดที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมและต่ำกว่าตลิ่งทั่วไปก็จะทำการแก้ไขต่อไป
สำหรับโครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม เป็นประตูระบายน้ำอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดประตูเหล็กบานโค้งจำนวน 5 บาน สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาได้ประมาณ 11.10 ล้าน ลบ.ม. ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี (ปี 2562–2566) ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 51,375 ไร่ ประชาชนได้ประโยชน์กว่า 2,568 ครัวเรือน ทั้งนี้ ประตูระบายน้ำท่านางงามจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งให้มากที่สุด อันจะช่วยในการสนับสนุนพื้นที่บางระกำโมเดลได้อีกทางหนึ่ง พร้อมกันนี้ ยังช่วยเร่งระบายน้ำในแม่น้ำยมในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งในพื้นที่ อ.บางระกำอีกด้วย
////////////