ชาวบ้านหมู่ 7 ตำบลวัดพริกพิษณุโลก ช่วยกันทำขนมกวนฟัก นานกว่า  6 ชม.ขนมโบราณทำบุญกฐิน

วันที่ 10 พฤศจิกายน 66 ที่ศูนย์สาธิตการตลาด บ้านเสาหิน หมู่ 7 ตำบลวัดพริก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก  ได้มีชาวบ้านจำนวนเกือบ 20 คน นำโดย น.ส.นิภาพร เกี่ยอ่วม อายุ 32 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลวัดพริก ได้มาช่วยกันทำขนมกวนฟัก ซึ่งเป็นขนมโบราณ ที่ทำสืบทอดต่อกันมา ตั้งแต่สมัยโบราณนานร่วม 100 ปี เพื่อนำไปใช้ในการทำบุญทอดกฐิน ที่วัดเสาหิน ปีนี้

นางฉลวย ถิ่นชาวนา อายุ 63 ปีและนางวาสนา แป้นน้อย อายุ 54 ปี   2ชาวบ้านหมู่ 7 เล่าให้ฟังว่า ในช่วงก่อนวันทอดกฐิน บรรดาชาวบ้านซึ่งเป็นแม่บ้าน จะระดมสิ่งของ เป็นฟักเขียวแก่ ในหมู่บ้าน เพื่อนำมาขูดเอาแต่เนื้อ  บางบ้านมีมะพร้าวนำมาช่วยกันปลอกเปลือกและผ่าเพื่อขูดเอาเนื้อมะพร้าว นำมาคั้นเป็นกะทิ ส่วนวัตถุดิบอื่นๆที่ในหมู่บ้านไม่มี อาทิ น้ำตาลทราย หอมแดง ถั่วลิสง แป้งข้าวเจ้าและแป้งมัน ก็จะลงขันระดมเงินกัน เพื่อซื้อนำมาเป็นวัตถุดิบทำขนมกวนฟัก

โดยชาวบ้านบอกว่า ได้นัดรวมตัวกันตั้งแต่ 8 โมงเช้า มาช่วยกันขูดฟักเขียวแก่เอาแต่เนื้อในโดย จะใช้สัดส่วน  1 กระทะใหญ่ ใช้เนื้อฟักจำนวน 6 กิโลกรัม น้ำตาลทราย 13 กิโลกรัม มะพร้าวที่คั้นเป็นกะทิแล้ว 13 กิโลกรัม แป้งข้าวเจ้า 6 กิโลกรัม แป้งมัน 3 กิโลกรัม หอมเจียว 1 กิโลกรัม ถั่วลิสงคั่วทุบหยาบอีก 5 กิโลกรัม

สำหรับขั้นตอนการทำ ขั้นแรกชาวบ้านจะต้องตั้งกระทะใบใหญ่ บนเตาฟืน จากนั้นนำหอมแดงที่หั่นไว้นำไปเจียวจนหอมเหลือง  จากนั้นนำเนื้อฟักที่เตรียม บีบเอาแต่เนื้อใส่กระทะ ผัดจนฟักสุกดี จึงใส่น้ำกะทิลงไป จากนั้นใส่แป้ง 2 ชนิดประกอบด้วยแป้งข้าวเจ้าและแป้งมันที่ละลายน้ำผสมจนเข้ากันดีแล้วเทลงไปในกระทะจากนั้นก็กวนจนทุกอย่างเป็นเนื้อเดียวกันใส่น้ำตาลทรายตามที่ชั่งตวงไว้ทั้งหมด ตลอดเวลาให้ใช้พายหรือตะหลิวกวนไม่ให้ขนมฟักติดกระทะ ใช้เวลาประมาณ 6-7 ชั่วโมง ซึ่งในวันนี้ชาวบ้านบอกว่าเริ่มกวนขนม ตั้งแต่ 4 โมงเช้า กว่าจะกวนแล้วเสร็จใช้เวลาถึง 4 โมงเย็นเคล็ดลับคือ ชาวบ้านจะต้องกวนแป้งตลอดเวลาและใช้ไฟระดับปานกลางไปเรื่อยๆจนกว่าเนื้อแป้งจะข้นเหนียวและจับตัวได้ดี แป้งหากเละเกินไปก็ใช้ไม่ได้  แป้งแข็งเกินไปก็ใช้ไม่ได้ เนื้อขนมจะต้องนิ่มกำลังดีหลังจากขนมกวนฟักสุกได้ที่แล้วจะตักมาใส่ถาดแล้วโรยด้วยถั่วลิสงคั่วปิดท้าย เพียงเท่านี้ก็ได้ขนมไทยโบราณ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นที่ทำสืบทอดต่อกันมานับร้อยปี เพื่อเตรียมนำไปทำบุญทอดกฐินที่วัดแล้ว

นางวาสนา แป้นน้อย กล่าวว่า ในปีนี้ตนได้บริจาคฟักให้กับกลุ่มชาวบ้านในหมู่บ้านเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบหลักในการทำขนมกวนฟักในครั้งนี้ เนื่องจากฟักเขียวที่บ้านตนแก่กำลังดี เป็นส่วนหนึ่งในการทำบุญทอดกฐิน หลังจากออกพรรษาทำให้ตนเองรู้สึกสุขใจ สบายใจ ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกับชาวบ้านสร้างความสามัคคีในการทำขนมในวันนี้ ซึ่งบรรยากาศตลอดการทำขนม ก็มีการพูดคุยหยอกล้อและมีเสียงหัวเราะกันตลอดเวลา เพราะขั้นตอนการทำค่อนข้างละเอียดอ่อนใช้เวลาในการทำที่ยาวนาน จึงต้องมีความอดทนในการที่จะร่วมแรงร่วมใจกันกวนขนมให้สำเร็จด้วยดี ซึ่งปีนี้ทำน้อยเพียง 2 กระทะเท่านั้น  เนื่องจากมีชาวบ้านมาร่วมลงแรงน้อยกว่าทุกปี

/////////

 

แสดงความคิดเห็น