ม.นเรศวร จัดเสวนา “สงครามยูเครน: สงครามร้อนแรกในสงครามเย็นใหม่” ชี้ต้องเตรียมรับวิกฤตไปอีกนาน

วันนี้ 20 ตุลาคม 2566 ณ ห้อง Main Conference  อาคารศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะสังคมศาสตร์ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการสังคมเสวนา ซีรีส์#๓ : หัวข้อ “สงครามยูเครน : สงครามร้อนแรกในสงครามเย็นใหม่” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิด และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข กรรมการสภามหาวิทยาลัยนเรศวรผู้ทรงคุณวุฒิ และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ “สงครามยูเครน : สงครามร้อนแรกในสงครามเย็นใหม่” เป็นวิทยากร พร้อมเปิดตัวหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับสงครามยูเครน ซึ่งเป็นเล่มแรกที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้อาจารย์ นิสิต นักวิชาการ และภาคประชาสังคมส่วนต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการเตรียมความพร้อมต่อการเป็นพลเมืองโลกที่ต้องปรับตัวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประชาคมโลกบนความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวถึงสงครามที่ผ่านมา 600 กว่าวันและจะอยู่ไปอีกนานว่า ผลกระทบที่คนไทยจะได้รับจากการทับซ้อนของสถานการณ์ COVID 19 กับสงครามยูเครน คือวิกฤตของเศรษฐกิจที่ทับซ้อนกันไปด้วย ซึ่ง COVID 19 ยังไม่มีวิกฤตด้านพลังงานเหมือนสงครามยูเครน และจะมีวิกฤตเรื่องอาหารตามมา สืบเนื่องจากราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่มีผลพวงมาจากสงคราม แต่สังคมที่กินข้าวเจ้ายังโชคดีกว่าสังคมที่กินข้าวสาลี ขนมปัง หรือแป้งโรตี ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักเนื่องจากแป้งสาลีและธัญพืช ราคาสูงขึ้นมาก ขณะเดียวกันก็มีสงครามตะวันออกกลางทับซ้อนขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล สังคมไทยควรต้องเตรียมตัวรับเงื่อนไขวิกฤตเศรษฐกิจและพลังงาน ปีหน้าอาจจะเป็นปีที่ต้องรัดเข็มขัดกัน เพราะสุดท้ายสิ่งที่ตามมาคือวิกฤตค่าครองชีพ

หนังสือ “สงครามยูเครน : สงครามร้อนแรกในสงครามเย็นใหม่” เป็นหนังสือที่เขียนตั้งแต่ก่อนเริ่มสงครามยูเครน มิติต่าง ๆ ของสงคราม สงครามโดรน สงครามปืนใหญ่ และอุปกรณ์ไฮเทคทั้งหลาย แม้สถานการณ์สงครามจะอยู่ไกลทางภูมิศาสตร์ แต่วันนี้ผลกระทบไม่หนีจากเราเลย และเราก็หนีไม่ได้ด้วย

//

แสดงความคิดเห็น