สืบสานประเพณีบุญเดือนสิบ ปิดทองหลวงพ่อปั้น แข่งขันเรือบก หนึ่งเดียวของไทย

วันนี้( 24 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดเนินกุ่ม หมู่ 4 ต.เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก  นายวาทิต ปัญญาคม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก  เป็นประธานเปิดงานประเพณีบุญเดือนสิบ “ปิดทองหลวงพ่อปั้น แข่งขันเรือบก ลิ้มรสข้าวเม่าทอด” ซึ่งชาวบ้านเนินกุ่มร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงงานบุญเดือนสิบ ซึ่งเป็นประเพณีที่สนุกสนานและสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน โดยเฉพาะการแข่งขันเรือบกที่จัดต่อเนื่องกันมายาวนานกว่าเกือบ 60 ปี ถือเป็นกีฬาพื้นบ้านหนึ่งเดียวของประเทศไทย มีทีมผู้เข้าแข่งขันและกองเชียร์เป็นจำนวน


สำหรับการแข่งขันเรือบกนั้นมีประวัติความเป็นมายาวนาน ในอดีตชาวบ้านเนินกุ่มจะแข่งขันเรือพายขนาดเล็ก เรือชาวบ้าน ในคลองเนินกุ่มที่อยู่หลังวัดเนินกุ่ม แต่ระยะหลังสภาพลำคลองเริ่มตื้นเขิน ไม่สามารถจัดแข่งขันเรือได้ ช่วง พ.ศ. 2500 สมัยอาจารย์เฉลียว เจ้าอาวาสในยุคนั้น จึงได้คิดค้นการแข่งขันเรือบกขึ้นมา เพื่อทดแทนการแข่งขันเรือในน้ำที่ไม่สามารถจัดได้ โดยกำหนดกติกาการแข่งขันเหมือนกับแข่งเรือทุกอย่าง ใช้บริเวณลานวัดเป็นที่แข่งขัน ส่วนอุปกรณ์หลักคือไม้ยาว 8 ศอก หรือ 4 เมตร ผู้แข่งขัน9 คน ใช้กติกาเหมือนแข่งเรือในน้ำ ชนะ 2 ใน 3 เที่ยว และถ้าเรือบกลำใดล้มก่อน ถือว่าแพ้ในรอบนั้น

บรรยากาศการแข่งขันตั้งแต่เช้านี้เต็มไปด้วยความสนุกสนาน เป็นสนามระยะทางยาว 100 เมตร ทางผู้จัดได้นำน้ำมาเปิดเข้าพื้นที่ให้ดินแฉะเปื้อนในสภาพ มีขี้เลน ขี้โคลน ถ้าหากวิ่งไม่พร้อมกันก็จะสะดุดขาพากันล้มลุกคลุกคลานก่อนจะเข้าเส้นชัย ทีมใดล้มก็จะถือว่าแพ้ทันที ในปีนี้มีทีมเข้าร่วมแข่งขันจำนวนกว่า 60 ทีม ถือว่ามากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยมีกองเชียร์ที่นั่งลุ้นยืนลุ้นอยู่สองฝั่งทาง คอยส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจทีมโปรดของตัวเองอยู่รอบสนาม

การจัดงานบุญเดือนสิบ ก็เพื่อส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันดีงามไว้ให้คงอยู่สืบไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมความสามัคคีในชุมชนสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหมู่บ้าน ตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท้องเที่ยวและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

น.ส.วิรัตน์ ใจซื่อ กำนันตำบลเนินกุ่ม กล่าวว่า  นักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานยังได้ร่วมปิดทองหลวงพ่อปั้น ชมแข่งขันเรือบก แล้วต้องไปรอต่อแถวเพื่อซื้อรสข้าวเม่าทอดต้นตำรับของวัดเนินกุ่ม ที่เตรียมกล้วย นับหลายร้อยกิโลกรัม และแป้งข้าวเม่าลงไปทอดในน้ำมันร้อนๆ จนเป็นแพสวยงาม   ราคาจำหน่ายแพละ 30 บาท ส่วนเงินที่ได้จากการจำหน่าย ก็จะนำเข้าวัดเพื่อทำบุญและเก็บไว้ทำนุบำรุงวัดวาอารามต่อไป ซึ่งปีนี้ผลตอบรับข้าวเม่าพอกดีมากต่อวันขายได้วันละ 40,000-50,000 บาท ซึ่งปกติแต่ละปีเฉลี่ยขายได้วันละประมาณ 20000 บาทเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านขายไปแล้ว กว่า  12,000 แพ หรือขายเป็นจำนวนเงิน 360,000 กว่าบาท ทีเดียว

/////////////////////////

แสดงความคิดเห็น