เตรียมสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน แก้ภัยแล้งอย่างยั่งยืน

วันที่ 5 กันยายน 2566  ณ ห้องราชาวดี โรงแรมเดอะแกรนด์ ริเวอร์ไซด์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน จังหวัดน่าน จังหวัดพิจิตร และจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อชี้แจงความเป็นมาของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่สูงสุด โดยหวังเป็นเครื่องมือแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วมลำน้ำน่านอย่างยั่งยืน  โดยมี นายพรมงคล ชิดชอบ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 1 นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม นายนิพนธ์ สนั่นเรืองศักดิ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก คณะกรรมการลุ่มน้ำน่าน คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดน่าน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา สภาเกษตรกร กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ สื่อมวลชน และประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ เข้าร่วมประชุม

นายนิพนธ์ สนั่นเรืองศักดิ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ กล่าวว่า สืบเนื่องจากในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ประสบปัญหาการขาดแคลนแหล่งเก็บกักน้ำที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยและปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรม การอุปโภค-บริโภค อยู่เป็นประจำโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ประกอบกับปัจจุบันเกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล อีกทั้งแม่น้ำน่านในเขตจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ มีสภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยในการพัฒนาเป็นอาคารบังคับน้ำประเภทอ่างเก็บน้ำได้  โดยในปี 2566 – 2567 กรมชลประทาน ได้มอบหมายให้บริษัท วี เอส พี เอส เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท มหานคร คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท อินโนเวชั่น คอนซัลแนท์ จำกัด ดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงเป็นการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหา และกิจกรรม การใช้น้ำอื่นๆ ในเขตจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ซึ่งมีขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย การศึกษาแผนหลักการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment) การศึกษาด้านเศรษฐกิจ-สังคม การศึกษาต้านเศรษฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และการประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชน มีระยะเวลาดำเนินงาน จำนวน 300 วัน (ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. 66-22 มิ.ย. 67) โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค การปศุสัตว์ แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำการเกษตรช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกทั้งในฤดูแล้ง ฤดูฝนและฝนทิ้งช่วง ช่วยควบคุมปริมาณน้ำในลำน้ำน่านโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งเมื่อปริมาณน้ำต้นทุนมีค่อนข้างน้อย อีกทั้งยังสามารถสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและส่งเสริมการท่องเที่ยวริมฝั่งแม่น้ำน่าน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎร ในเขตพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต

ด้าน นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก กล่าวว่า ที่มาเนื่องจากว่าในตัวแม่น้ำน่านอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ต้นน้ำ มีเขื่อนสิริกิติ์เก็บกักน้ำ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดฝนตกท้ายเขื่อนค่อนข้างมาก กรมชลประทานจึงมีแนวทางการเก็บน้ำแบบขั้นบันได โดยสร้างประตูน้ำเก็บกักน้ำไว้ในแม่น้ำน่านเป็นช่วงๆ เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทางการเกษตร โดยเขื่อนสิริกิติ์เก็บกักน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้ 9,900 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร แต่ศักยภาพของลุ่มแม่น้ำน่านเอง สามารถเก็บกักน้ำได้ 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเห็นได้ว่ามีน้ำไหลออกนอกลุ่มน้ำจำนวนมาก การสร้างประตูกั้นแม่น้ำน่าน จะเป็นตัวช่วยในการเก็บกักน้ำแม่น้ำน่านได้เพิ่มมากขึ้น เป็นการสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศ เรื่องภัยแล้งที่เราเผชิญกับปัญหาหลายพื้นที่ ในส่วนของเขื่อนสิริกิติ์เองต้องใช้น้ำร่วมกัน แต่ละปีเรามีน้ำไม่เพียงพอ จึงมีการศึกษาเพื่อเก็บกักน้ำเป็นช่วงๆ ในแต่ละจังหวัด  วันนี้เป็นเรื่องของการศึกษาการปฐมนิเทศประตูแม่น้ำน่านแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเหนือเขื่อนสิริกิติ์กับท้ายเขื่อนสิริกิติ์  เหนือเขื่อนสิริกิติ์คือในพื้นที่จังหวัดน่าน  ส่วนท้ายเขื่อนลงมา คือ ตั้งแต่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร ลงไปถึงนครสวรรค์ เราจะทำการศึกษาโดยเลือกพื้นที่ 2 แห่งก่อน จากที่วางโครงการไว้ประมาณ 10 แห่ง แต่จะเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมสูงสุด เพียง 2 แห่งก่อน คือเหนือเขื่อนสิริกิติ์ 1 แห่งคือที่จังหวัดน่าน  อีกหนึ่งแห่งอาจจะเป็นที่ จ.พิษณุโลก พิจิตร หรือ นครสวรรค์

นายชำนาญ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกเราได้มีการศึกษามานานตั้งแต่ปี 2560 เคยเสนอในการประชุมครม.สัญจร เพื่อขอครม.ในการก่อสร้างเขื่อนท้ายเมืองพิษณุโลกซึ่งใช้ชื่อตอนนั้น    จ.พิษณุโลก ศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งมีความก้าวหน้าค่อนข้างมาก วางโครงการในจุดที่เหมาะสม  มีการระดมความเห็นของผู้มีส่วนร่วมในการพูดคุยกับชาวบ้านว่าจะมีการสร้างเขื่อนบริเวณช่องน้ำลัด  ที่ตำบลวังน้ำคู้ อ.เมือง  เป็นพื้นที่ราชพัสดุไม่ต้องมีการเวนคืนที่ดิน  มีการทำประชาคมประชาชนมีความเห็นด้วย  ข้อดีอีกอันหนึ่งคือการที่เราไปสร้างประตูกั้นแม่น้ำน่านที่ช่องน้ำลัด เป็นข้อยกเว้นที่อาจจะทำให้เราไม่ต้องศึกษาหรือรายงานด้านสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้  มีการผลักดันในเรื่องของการดำเนินการออกแบบได้ในทันที   โดยไม่ต้องมีการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม  ถือว่าโครงการประตูระบายน้ำท้ายเขื่อนพิษณุโลกเองจะเริ่มได้เร็วขึ้น   และประโยชน์ที่จะได้รับมีค่อนข้างมาก มีการวางโครงการไว้ในเขตพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำน่าน จะมีการก่อสร้างเพื่อเก็บน้ำในพื้นที่เหนือน้ำน่านได้เกือบ 55 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้มีการศึกษาและวางโครงการไว้อยู่แล้วและประโยชน์ต่อมาคือความมั่นคงเรื่องน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำด้านการอุปโภคบริโภค   น้ำเพื่อการเกษตรน้ำที่จะใช้ด้านการท่องเที่ยว  ซึ่งพิษณุโลกเองมีการคำนึงเรื่องการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นเรือนแพและชุมชนที่จะใช้ในเรื่องของการท่องเที่ยวทางเรือก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด

ตัวแม่น้ำน่าน ระดับความสูงตั้งแต่ท้องลำน้ำถึงจะตลิ่ง ประมาณ 10 เมตร 90 เซนติเมตร ถ้าเราสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำน่านจะเก็บกักน้ำเหนือประตูน้ำ ระดับน้ำจะสูงประมาณ 6 เมตร ซึ่งทัศนียภาพกำลังสวยงามและความมั่นคงด้านน้ำ ช่วยด้านความมั่นคงแข็งแรงของการทรุดตัวตลิ่งได้เป็นอย่างดี  ถ้าเราเปิดโครงการเริ่มสำรวจออกแบบ จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี เพราะว่าต้องของบประมาณเข้าไปทาง ครม.เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ ต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท และเชื่อมั่นว่าพื้นที่ของจังหวัดพิษณุโลกมีความเหมาะสมมากที่สุด

///////

แสดงความคิดเห็น