“กาน่า” ทุ่ม10 ล้าน ฝึกนวัตกรรมขยะวิทยาวงษ์พาณิชย์พิษณุโลก แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมขยะล้นเมือง

วันนี้ ( 11 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมวังจันทน์ริเวอร์วิว จังหวัดพิษณุโลก นายภูสิต สมจิตต์ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชนระหว่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิตผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย   และ บริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานบริหารกลุ่มวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งเป็นนโยบายระดับประเทศ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล ร่วมกับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นต้นแบบเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ เป็นแหล่งเรียนรู้ดูงาน เพื่อขยายผลต่อภาคชุมชนหรือภาคธุรกิจ โดยสร้างความร่วมมือเชิงบูรณาการในการจัดทำหลักสูตรศึกษาดูงานระบบการคัดแยกขยะชุมชน ขยะรึไซเคิล ขยะอุตสาหกรรมที่อันตรายและไม่อันตราย และขยะทั่วไปอย่างครบวงจร ตลอดจนความร่วมมือในการร่วมคณะที่ปรึกษา การวิจัยและพัฒนาความร่วมมือในด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการขยะ จึงมีความตั้งใจและประสานความร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการคัดแยกขยะและเพิ่มมูลค่าเพื่อการรีไซเคิล อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานบริหารกลุ่มวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป กล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลกาน่า กระทรวงสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมและการจัดการน้ำเสีย ของประเทศกาน่า ได้ค้นหาจากแคตตาล็อก ของสหประชาชาติพบว่า จ.พิษณุโลกมีโรงเรียนสอนวิชา นวัตกรรมขยะวิทยา จึงส่งคณะผู้แทนของรัฐบาลกาน่ากับหน่วยงานของบริษัท จ๊อดพงษ์กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน การเก็บขยะทั้งกาน่า และแอฟริกา เดินทางมาที่พิษณุโลก  นับว่าพิษณุโลกโมเดล เป็นเมืองใช้ประโยชน์จากขยะ ที่มีการสร้างสังคม BCG การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน นโยบาย Circular economy การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนจากขยะ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พิษณุโลกโมเดลดังกล่าว เป็นความท้าทายอย่างที่สุดที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย อย่างเป็นรูปธรรม   สำหรับวิชานวัตกรรมขยะวิทยา เริ่มต้น เมื่อปี ค.ศ.2000 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 23 ปี มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม ผ่านไปแล้ว จำนวนกว่า 12,000 คน ทั้งในประเทศไทย และนานาประเทศ

โดยส่งผู้เรียน จำนวน 30 คน มาจากนโยบายของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ประเทศกาน่า กลุ่มบริษัท Jospong Group และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ ต้องการนำความรู้ ไปใช้ประโยชน์ แก้ปัญหามลพิษให้กับประเทศกาน่า  ด้านขยะและสิ่งแวดล้อมของประเทศเขาได้  เพราะปัญหาประเทศของเขาแม่น้ำลำคลองกลายเป็นเมืองมีขยะลอยน้ำสูง 2 เมตรสามารถเดินข้ามได้ พร้อมกับข้างถนนพื้นที่ 1,000 ไร่ เต็มไปด้วยขยะมากมายกองเป็นภูเขา พร้อมด้วยกลิ่นควันไฟคละคลุ้งเกิดภัยอันตราย เขาจึงควานหาวิธีการกำจัดขยะและสิ่งแวดล้อมของเขาได้ ทุกคนเดินทาง 24 ชั่วโมงจากกาน่า มาถ่ายเครื่องที่เอธิโอเปีย มาถึงสุวรรณภูมิก่อนต่อเครื่องมาพิษณุโลกด้วยความตั้งใจ งบประมาณในการเรียนรู้ประมาณ 10 ล้านบาท ที่ทุ่มเทมาจังหวัดพิษณุโลก

สำหรับ การฝึกอบรมนานาชาติ หลักสูตร 12 วัน  วิชานวัตกรรมขยะวิทยา หัวข้อ Urban mining business with recycling จัดโดย บริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีนหลักสูตรการอบรม ประกอบด้วย ยุทธการเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร เน้นการใช้ประโยชน์จากขยะ หลักการ Phitsanulok the city of recycling,การสร้างสังคม BCG ,การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนจากขยะกับการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของชาติ circular economy ความรับผิดชอบของผู้ผลิต Exiended Producer Responsibiliy (EPR) และการออกแบบอีไคดีไซน์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การอบรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน  1.ยุทธการเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร และวิธีทำธุรกิจเหมืองแร่ในเมืองจากขยะ 2.วิธีวิเคราะห์ วิธีพิสูจน์ ชี้ถึงความแตกต่าง ระหว่างวัสดุต่างชนิด การคัดแยกอย่างมีประสิทธิภาพ 3.ขั้นตอนการตรวจรับวัตถุดิบ 4.กระบวนการผลิตเพื่อให้ได้วัตถุดิบ แร่พื้นฐานคุณภาพสูง 5.สถานการณ์ทางสังคม และสิ่งแวดล้อม(EPR) Extended Producer Responsibility ความรับผิดชอบของผู้ผลิต นโยบายการเรียกกลับคืน ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์  (CE) Circular economy การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน เพื่อการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน  (MFA) Material Flow Analysis การ ไหลของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ จากสินค้าอุปโภคบริโภค (VCA) Value chain Analysis การวิเคราะห์ วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การเกิด การใช้งาน การสิ้นสุดการนำกลับมาใช้ใหม่ (LCA) Life Cycle Assessment ตลอดห่วงโซ่ชีวิตผลิตภัณฑ์ ของเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องใช้สำนักงาน ต้องสามารถนำกลับมารี ไซเคิลได้ใหม่ 6.การตลาดรีไซเคิล และการตลาด RDF

และในวันนี้เป็นพิธีมอบ certificate ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม และพร้อมกันนั้น ยังมีการลงนาม MOU ระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กับ บริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ รวมทั้งการร่วมเป็นที่ปรึกษา แก้ปัญหา ด้านขยะ และสิ่งแวดล้อม ให้กับหน่วยงานต่างๆตลอดจนการ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชน

ศ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่เน้นการลดปริมาณของเหลือทิ้งโดยการนำกลับมาใช้ใหม่และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยเฉพาะวัสดุรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่เกิดเป็นวัตถุดิบรอบสองที่มีคุณภาพในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น ความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่าง วว. และบริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผลงานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และประสบการณ์ด้านการคัดแยกและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะเพื่อสร้างโอกาสในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างอาชีพ ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน วว. ในฐานะหน่วยงานวิจัย พัฒนา บริการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีของประเทศ มีประสบการณ์ในด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการเพิ่มมูลค่าขยะและของเหลือทิ้งด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นเวลากว่า 20 ปี วว. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในความร่วมมือกับบริษัทวงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยร่วมขับเคลื่อนเชิงบูรณาการของทั้ง 5 หน่วยงานในครั้งนี้ โดยจะนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ บุคลากร มาช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

////////////

 

แสดงความคิดเห็น