วช.- ม.นเรศวร ส่งมอบเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะพลาสติก รักษ์โลก ให้แก่กองทัพภาคที่ 3

วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ กองทัพภาคที่ 3 และ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะพลาสติก ซึ่งเป็นผลงานภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมจากขยะพลาสติกในชุมชนภาคเหนือตอนล่าง ประเทศไทย” ที่ วช. ให้ทุนสนับสนุนแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินโครงการฯ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้ส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าว แก่กองทัพภาคที่ 3 โดยมี พลตรี ประสาน แสงศิริรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นผู้รับมอบ พร้อมนี้ ศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมพิธีส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าวด้วย ณ สโมสรบันเทิงทัพ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก โดยก่อนรับมอบเสื้อเกาะกันกระสุน นั้น ได้มีการทดสอบ โดยทหารหน่วยกองร้อยลาดตระเวนระยะไกล ที่ 4 ค่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม. และ 11 มม. ทดสอบยิง 3 ระยะ คือ ที่ ระยะ 7 เมตร ระยะ 10 เมตร และที่  15 เมตร  ซึ่งผลการยิง ไม่ทะลุ ชุดเกาะแต่อย่างใด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทดสอบที่ ระยะ 25 เมตร ก็ยังไม่ทะลุชุดเกาะเช่นกัน

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า ม.นเรศวร ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในการดำเนินโครงการ “การมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมจากขยะพลาสติกในชุมชนภาคเหนือตอนล่าง ประเทศไทย” มีความสอดคล้องกับแนวทางที่สหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ให้ประเทศต่าง ๆ ภายใต้ทิศทางการพัฒนาประเทศ พ.ศ. 2558 –2573 ในเป้าหมายที่ 12 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การสร้างสรรค์นวัตกรรมจากขยะพลาสติกยังตอบสนองยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพอีกด้วย โดยคณะนักวิจัยมีแนวคิดในการนำเอาขยะเหลือใช้กลับมาทำให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้ชุมชน จากการกำจัดขยะมูลฝอยในปี 2562 พบว่าจังหวัดพิษณุโลก ติดอันดับ 1 ใน 6 จังหวัดที่มีการนำขยะกลับมาใช้ใหม่มากที่สุด โดยจำนวนขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ในจังหวัดพิษณุโลก มีปริมาณ 465.7 ตันต่อวัน โดยนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนถือเป็นผลสำเร็จของโครงการฯ จนได้ผลงานสร้างสรรค์ยกระดับขยะพลาสติกที่มีจำนวนมาก จากกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ และชุมชน จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัย ให้กับกองทัพ โดยมีทหารเป็นกำลังสำคัญในการรักษาอธิปไตยของชาติ

สำหรับนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะพลาสติก นี้ มีส่วนประกอบ คือ โคมไฟหน้ารถยนต์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ ที่เป็นเหยื่อป้องกันกระสุนได้ รองเท้ายาง  พลาสติกจากการฟอกไต และขยะจากท้องทะเล ซึ่งถือว่าเป็นเศษสิ่งเหลือใช้ที่นับวันจะสะสมมากขึ้น ทำให้หลายคนไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถนำมารีไซเคิล ทำเสื้อเกาะให้แก่ทหาร ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง  และที่สำคัญราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ซึ่งต้นทุนในการผลิตเพียงหมื่นกว่าบาทเท่านั้น หากนำเข้าจากต่างประเทศก็จะมีราคาแพงกว่าถึง  3-5 เท่าตัว

ด้านนายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นองค์กรหลักด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญด้านการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ที่มีความท้าทายและมีเป้าหมายชัดเจน รวมถึงการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ตลอดจนผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาและสามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม งานวิจัยนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนเป็นผลสำเร็จของการสนับสนุนนักวิจัยที่ได้รับทุนจาก วช. จนได้ผลงานสร้างสรรค์ยกระดับขยะพลาสติกที่มีจำนวนมาก จากกระบวนการมีส่วนร่วม ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมความปลอดภัยให้กับทหารของประเทศและจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมรายได้ให้กับคนในชุมชนจากการนำเอาขยะจากท้องทะเลมารวมกับผ้าทอมือ อันเป็นสิ่งแทนใจของความรักและความผูกพันของคนในครอบครัว ชุมขนเป็นเกราะป้องกันทหารของประเทศอีกทั้งความสำเร็จของการพัฒนานวัตกรรมสื่อเชิงเนื้อหาระหว่าง นักวิจัย ทหารและนักประพันธ์เพลง เป็น soft power ที่แสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของทหาร ผลผลิตและต้นแบบอันเกิดจากการวิจัยครั้งนี้จะก่อให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกและการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยได้ต่อไป

ด้านพลตรี ประสาน แสงศิริรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า สำนักการวิจัยแห่งชาติและมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เล็งเห็นความสำคัญในงานวิจัยนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุน ซึ่งถือว่าเป็นคุณประโยชน์ให้กับกำลังพลของกองทัพบกเป็นอย่างดี รายการที่จะนำไปใช้ในพื้นที่เสี่ยง ให้เกิดความปลอดภัยรวมทั้งผลผลิตดังกล่าวจะเป็นต้นแบบในการลดขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่จะนำไปสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืนแบบบูรณาการ สำหรับเสื้อกันกระสุนนี้ ได้จัดทำตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ในแนวทางที่ว่า น้ำหนักเบา ผลิตภัณฑ์เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนและเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพอลิคาร์บอเนต ที่ได้จากไฟหน้ารถ ถุงน้ำยาล้างไต ยางจากรองเท้าแตะเป็นต้น  ซึ่งหลังจากรับมอบ ก็จะนำไปมอบให้กับทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามชายแดน ซึ่งจากตรวจสอบพบว่าเสื้อเกาะดังกล่าวมีคุณสมบัติเบา และป้องกันกระสุนจากปืนพกสั้น ซึ่งอนาคตอยากให้พัฒนาคุณภาพที่สามารถป้องกันอาวุธปืนสงครามได้ต่อไป

///////////

 

แสดงความคิดเห็น