วันที่ 20 เมษายน 66 ผศ.ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า ตนเองและคณะผู้วิจัยได้คิดค้นวิจัยและพัฒนาวัสดุทดแทนธรรมชาติ จากพลาสติกรีไซเคิล ผสมกากกาแฟและเปลือกไข่เหลือทิ้ง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทุนสนับสนุนพื้นฐาน ( Fundamental Fund) ประจำปี 2565 โดยได้รางวัล “เหรียญเงิน” ในงานการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565 (Thailand Research Expo 2022)
งานวิจัยนี้ นอกจากช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม การนำพลาสติกมารีไซเคิลยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดการใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป นั้นคือพลาสติก ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสารปิโตรเคมีที่ได้มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ซึ่งปิโตรเลียมที่มีแหล่งกำเนิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ในสภาวะนิ่ง ไม่มีออกซิเจน ภายในความดันสูงและอุณหภูมิสูง เป็นเวลาหลายร้อยปี นอกจากนี้ยังมีการใช้สารตัวเติม (fillers) ที่ได้จากวัสดุเหลือทิ้ง ซึ่งในงานวิจัยนี้ สนใจนำกากกาแฟ (spent coffee ground) และเปลือกไข่ (egg shell) มาใช้ผสมกับพลาสติกรีไซเคิล เพื่อทำเป็นวัสดุคอมพอสิต (composite material)ในส่วนของเปลือกไข่นั้นจะมีทั้งไข่ไก่และไข่เป็ด ซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ถึง 99 % และจากการสืบค้น พบว่ามีการนำไปใช้เป็นผงแคลเซียมคาร์บอเนต ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสี อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น แคลเซียมคาร์บอเนตจัดเป็นสารตัวเติม ที่ช่วยปรับปรุงในด้านความแข็งแรง ทนทานต่อการการบีบอัด ช่วยป้องกันพลาสติกหดตัว และช่วยให้ชิ้นงานทนทานต่อสภาพภูมิอากาศได้ดี สำหรับกากกาแฟจะเป็นสารตัวเติม ที่มีองค์ประกอบหลักคือเซลลูโลส (cellulose) เฮมิเซลลูโลส (hemicellulose) ลิกนิน (lignin) น้ำมันกาแฟ (coffee oil) และประกอบกับกากกาแฟมีสีน้ำตาลเข้มเสมือนไม้ น่าจะนำมาใช้ทดแทนไม้ได้
ผศ.ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า วัสดุทดแทนธรรมชาติ ที่ผลิตขึ้นมานั้น จะเป็นการใช้วัตถุดิบ พลาสติกรีไซเคิลผสมกากกาแฟและเปลือกไข่เหลือทิ้ง ซึ่งเป็นการเอาวัถตุดิบใช้แล้ว หมุนเวียนเอากลับมาทำให้มีมูลค่าสนับสนุนแนวคิด “Circular Economy” นั้นเอง โดยจะใช้เทคโนโลยีการผสมด้วยเครื่องหลอมอัดรีดเกลียวหนอนคู่เพื่อเตรียมเป็นคอมพาวด์ จากนั้นใช้กระบวนขึ้นรูปด้วยเทคนิคการอัดเข้าแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะสามารถขยายขนาดการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้
พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการทางด้านเฟอร์นิเจอร์ของไทยทั้งรายเล็กรายใหญ่ และ SME มีประมาณ 1970 ราย มีสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่แข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งจะเป็นช่วยให้มีสินค้าส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งวัสดุทดแทนธรรมชาติที่ผลิตขึ้นนี้ จัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะพลาสติก ลดความต้องการใช้ไม้จากป่า ลดพลังงานในกระบวนการผลิต เนื่องจากกว่าในกระบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์จากพลาสติกรีไซเคิลจะใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่ากระบวนการผลิตปกติ อีกทั้งเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุทดแทนธรรมชาติสามารถนำไปใช้ได้ทั้งภายในอาคารและนอกอาคารบ้านเรือน เพราะว่ามีความคงทนต่อสภาพอากาศทุกฤดูกาล ซึ่งถือว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์ รักษ์โลก และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้จดทะเบียนอนุสิทธิบัตรแล้ว
สนใจถามรายละเอียดเพิ่มเติม ผศ.ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร 08 9708 9494 E-mail: [email protected]
/////////////////