วันนี้( 8 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงฤดูแล้ง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจะประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควันเป็นประจำทุกปี และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที หน่วยบินทหารบกยุทธวิธีที่ 3 กองทัพภาคที่ 3 จึงฝึกเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยอากาศยานเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 พร้อมทดสอบอุปกรณ์ถุงบรรจุน้ำแบบพับได้ หรือ Bambi bucket โดยได้ทำการฝึกในสถานการณ์จริง ณ บริเวณเขื่อนเเควน้อยบำรุงแดน ตำบลคันโช้ง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก พร้อมกันนี้พลตรี ศราวุฒิ เกิดหลำ ที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก วีระวัฒน์ พงษ์เจริญ ผู้บังคับการหน่วยบินทหารบกยุทธวิธีที่ 3 ได้ลงพื้นที่ติดตามการฝึกในครั้งนี้
ทั้งนี้ระหว่างการบินฝึกซ้อม ได้พบเหตุไฟไหม้ป่า 2 จุด บริเวณเขื่อนแควน้อยบำรุง แม่ทัพภาคที่ 3 จึงสั่งการให้เร่งเข้าดับไฟป่าเป็นการด่วน โดยนำเฮลิคอปเตอร์ ฮ.ท. 17 บินลงตักน้ำบริเวณเขื่อนแควน้อย ทำการดับไฟป่าทางอากาศ จำนวน 2 เที่ยวบิน น้ำจำนวนกว่า 7,000 ลิตร จึงสามารถควบคุมไฟป่าได้ทั้ง 2 จุดได้ในที่สุด
ทั้งนี้ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ได้นำเครื่องเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 เพื่อปฏิบัติการดับไฟป่า ได้ประจำไว้จำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ จ.พิษณุโลก คอยดูแลพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และ จ.เชียงใหม่ คอยดูแลพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ขณะที่ค่า PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกพบว่า ได้เริ่มลดระดับลง มีค่า 48 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) หรือ 92 AQI อยู่ในเกณฑ์คุณภาพปานกลาง
ขณะที่ นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ประชุมติดตามสถานการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง (PM 2.5) จังหวัดพิษณุโลก ประจำสัปดาห์ โดยมีนายวาทิต ปัญญาคม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายนิสิต สวัสดิเทพ ปลัดจังหวัดพิษณุโลก พร้อมนายอำเภอทั้ง 9 อำเภอ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
ทาง ผู้ว่าฯ สอบถามผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ถึงมาตรการควบคุม “คนหาของป่า” จัดให้ทุกอำเภอมีการลงทะเบียนก่อนการเข้าป่า โดยทุกอำเภอเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวและจะเร่งดำเนินการลงทะเบียน ซึ่งจังหวัดจะดำเนินการประกาศการลงทะเบียนของ “ผู้หาของป่า” โดยก่อนการเข้าป่าจะต้องมีการลงเบียนเพื่อให้มีข้อมูลว่าผู้ใดเข้าป่าวันที่เท่าไร อีกทั้งจำนวนของผู้เข้าป่าหาของป่า ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะดำเนินการเฉพาะช่วงควบคุมป้องกันไฟป่าเท่านั้น และเพื่อควบคุมปัจจัยการเกิดไฟป่ามิได้มีการห้ามเข้าป่า
ทางด้านภาคการเกษตรจะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลง การดำเนินการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรในระดับหมู่บ้าน เพื่อรณรงค์หยุดเผาเศษวัสดุทางการเกษตร และรณรงค์การนำเศษวัสดุกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อาทิ อัดฟางก้อน เพาะเห็ดฟาง การทำปุ๋ย เป็นต้น
/////