วันนี้ (19 ตุลาคม 2565) ที่โรงแรมเดอะพาร์ค อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 2 พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน เวทีที่ 3 โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ณ เพื่อนำเสนอร่างผังน้ำ ฉบับที่ 1 ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงจัดทำร่างผังน้ำ และนำมารับฟังความคิดเห็นในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้อง
นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ดำเนินการศึกษาและทบทวนกายภาพ ของพื้นที่ การใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีตถึงปัจจุบัน ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนที่แสดงโครงข่ายระบบระบายน้ำในปัจจุบัน ทิศทางการไหลของน้ำ วิเคราะห์สภาพและสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง แผนที่แสดงระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัย การบริหารจัดการอุทกภัย การบริหารจัดการภัยแล้ง และการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จากหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อนำมากำหนดขอบเขตผังน้ำ โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์
ซึ่งผลการวิเคราะห์และจัดทำร่างผังน้ำ (ฉบับร่าง 1) ลุ่มน้ำน่าน จำแนกเป็น 3 รหัสโซนรวมพื้นที่ 2,111,571 ไร่ ได้แก่ พื้นที่น้ำหลากริมลำน้ำ (ลน.) จำนวน 16,787 ไร่ พื้นที่น้ำหลากระบาย (ลร.) จำนวน 2,054,933 ไร่ และพื้นที่น้ำนอง (น.) จำนวน 39,851 ไร่ โดยพื้นที่เหล่านี้มีข้อเสนอแนะในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำ เบี่ยงเบนการไหลของน้ำ และผังน้ำจะเกิดประโยชน์สูงสุด
เมื่อมีการควบคุมการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ผังน้ำอย่างเหมาะสม เช่น เขตชลประทานน้ำนองและเขตที่กำหนดไว้เป็นทางน้ำหลาก ควรเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทเกษตรกรรม พื้นที่แก้มลิงกำหนดให้เป็นที่โล่ง ส่วนเขตที่กำหนดไว้เป็นชุมชนและอุตสาหกรรมตามผังเมืองรวมจังหวัด ควรมีระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วม โดยการจัดทำผังน้ำมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 30 ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485 เทศบัญญัติและข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นต้น กฎหมายเหล่านี้จะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ผังน้ำเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุด
นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการจัดทำผังน้ำ 4 ลุ่มน้ำภาคเหนือ ให้มีความเชื่อมโยงกันคือ ปิง/วัง/ยม/น่าน โดยวันนี้เป็นการประชุมลุ่มน้ำน่านตอนล่าง ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกอุตรดิตถ์และพิจิตร ซึ่งจะยังมีการประชุมรวมทั้งหมด 8 เวที เพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างผังน้ำร่างที่ 1 สำหรับผังน้ำเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันนี้ประเทศไทยไม่มีระบบผังน้ำเลย ผังน้ำ คืออะไร ผังน้ำคือแผนที่แผนผัง ทิศทางการไหลของน้ำ ว่าน้ำไหลไปทางไหนตั้งแต่เหนือจดใต้จนออกทะเล เมื่อมีผังน้ำเราจะมีการกำหนดขอบเขต พื้นที่ที่จะต้องสงวนรักษาไว้ ขอบเขตพังน้ำไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ริมแม่น้ำ ขอบเขตพื้นที่น้ำท่วม พื้นที่ลุ่มตำ ขอบเขตเหล่านี้เราจะกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินไปด้วย ว่าควรไม่ควรจะมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างอย่างไร
โดยขณะนี้ทาง สทนช.ทำผังน้ำแล้วเสร็จไปแล้ว 6 ลุ่มน้ำ เช่น ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำมูล เป็นต้น สำหรับลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน คาดว่าในปี 2566 ก็จะแล้วเสร็จ จากนั้นก็จะนำผังน้ำเข้าสู่คณะกรรมการลุ่มน้ำ ให้ความเห็น แล้วก็จะนำเข้าสู่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ จากนั้นก็ประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษาต่อไป