Street Art ตลาด120 ปี จุดเช็คอินแห่งใหม่อ.วังทอง จ.พิษณุโลก

เทศบาลวังทองสร้างแลนด์มาร์คดึงดูดนักท่องเที่ยว  ให้ศิลปินท้องถิ่นวาดภาพ วิถีชีวิตชาวชุมชนชาววังทอง บนฝาบ้านไม้เก่าโบราณ  ผนังปูน ผนังสังกะสี ตรอกกลางตลาด 120 ปีวังทอง เป็นสตรีทอาร์ต ตั้งเป้าต้อนรับท่องเที่ยวช่วงเทศกาลฤดูหนาวและเทศกาลปีใหม่ ได้แวะถ่ายรูปซื้อสินค้าท้องถิ่นกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

วันที่ 18 ตุลาคม 2565ที่ สตรีทอาร์ต ตรอกกลางตลาด 120 ปีวังทอง จุดกึ่งกลางเชื่อมระหว่างจุดหอนาฬิกา – วัดวังทองวนาราม  นายวิทยา รัดกุม ศิลปินอิสระ ศิลปินท้องถิ่นจังหวัดพิษณุโลกได้ใช้สีอะคริลิคและสีน้ำมัน บรรจงวาดภาพ บันทึกวิถีชีวิตชาวชุมชนวังทองในอดีตไว้บนฝาบ้านไม้เก่าโบราณ ผนังสังกะสี กำแพงปูน เพื่อสร้างจุดแลนด์มาร์ค ดึงดูดนักท่องเที่ยวแวะมาถ่ายรูป ทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

นายวิทยา รัดกุม ศิลปินอิสระ เปิดเผยว่า ตนได้รับการติดต่อจากทางเทศบาลตำบลวังทอง ให้มาสร้างสรรค์ผลงานในความเป็นพื้นถิ่นของชุมชนวังทอง จึงได้รวบรวมภาพในอดีตจากชาวอำเภอวังทอง จากนั้นนำมาคัดกรองเลือกเป็นภาพวาดไว้บนผนังไม้ ปูน สังกะสี สร้างภาพวิถีชุมชน เป็นการบันทึกเหตุการณ์ช่วง 100 ปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นการสะท้อนให้คนในชุมชนรำลึกถึง เพราะในอดีตที่ผ่านมาเรื่องราวต่างๆ ถูกบันทึกในความทรงจำ จะมีการบันทึกภาพไว้เฉพาะผู้ที่มีฐานะถ่ายภาพเก็บ ก่อนเรื่องราวเรือนหาย แม้ปัจจุบันยังเหลือร่องรอย สถานที่สำคัญอยู่เช่น ศาลาท่าน้ำ อาคารบ้านไม้เก่า การใช้วิถีชีวิตริมน้ำวังทอง  ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาที่วัดวังทองวนาราม เป็นความประทับใจของชาวชุมชนโดยบันทึกเรื่องราวไว้บนผนังกำแพง ซึ่งภาพที่วาด จัดแบ่งโซน เป็น โซนวัฒนธรรม ประเพณี แหล่งการค้าขาย วิถีชีวิตชุมชนการละเล่น  นับเป็นเรื่องค่อนข้างยากเนื่องจากว่างานต้องมีความละเอียดอ่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ใกล้งานประเพณี การท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาว ใกล้ปีใหม่ จึงต้องการสร้างผลงานไว้เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวช่วงปีใหม่นี้ ซึ่งระยะเวลาในการวาดใช้เวลาประมาณ 30 วัน ล่าสุดเวลานี้ภาพสร้างสรรค์ไปได้กว่า 80% แล้ว เหลือเก็บรายละเอียด 3 วันน่าจะเสร็จเรียบร้อย ผลงานเป็นที่พอใจมาก เวลานี้ก็เริ่มมีประชาชนในพื้นที่วังทองและนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาถ่ายภาพ กับภาพที่วาดแล้ว

ด้าน นายสมพงษ์ ศรีคมขำ ประธานชุมชนหน้าวัดวังทองวนาราม และเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลวังทอง เปิดเผยว่า เนื่องจากทางเทศบาลตำบลวังทอง เกิดแนวคิดการสร้างจุดแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นภายในชุมชนวังทอง จึงได้จัดงบประมาณ มาทำ Street Art เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ผ่านเส้นทางอำเภอวังทอง ขึ้นไปภาคเหนือ หรือภาคอีสาน จะต้องแวะเข้ามาท่องเที่ยวภายในตลาด 120 ปีวังทองและถ่ายรูปกับภาพวิถีชุมชน พร้อมซื้อสินค้าของชุมชน ก่อนเดินทางทั้งไปและกลับตามที่กำหนดไว้

ซึ่งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาด 120 ปี ครั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า หลายพื้นที่มีการสร้างจุดให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพจึงมองเห็นว่า Street Art ตลาด 120 ปี น่าจะเกิดขึ้น  โดยเน้นการวาดภาพวิถีชีวิตคนวังทอง บันทึกประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม เป็นภาพวาด 2 ฝั่งถนนตลาด 120 ปี โดยได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน และด้วยสภาพที่ชาวตลาดวังทองมีคนไทยเชื้อสายจีนมาอาศัยอยู่จำนวนมาก และสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจคือศาลเจ้าแม่ทองคำเจ้าแม่ทับทิม  อังกอร์ ของอำเภอวังทอง ขึ้นชื่อติดอันดับระดับประเทศและเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดพิษณุโลก อังกอร์ ที่นี่เกิดจากการรวมกลุ่มของเยาวชนอย่างเข้มแข็งในการแสดงศิลปะ ซึ่งอนุรักษ์ทำเป็นประจำทุกปี และในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ เยาวชนเริ่มนัดซ้อมอังกอร์ที่หน้าที่ว่าการอำเภอวังทอง ก่อนมีงานประเพณีเกิดขึ้น นอกจากนี้ประเพณีวัฒนธรรม อย่าง งานบวชนาค รำวงย้อนยุค ลิเกคณะสายัณห์เจริญพร  คณะอัศวินเป๋ เป็นคณะลิเกที่ขึ้นชื่อของอำเภอวังทอง 

นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า ภาพที่วาด ล้วนเห็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ของวังทอง จึงได้เกิดถนนเส้นนำร่องเส้นนี้ ที่ตลาด 120 ปีเป็นถนนสตรีทอาร์ต แม้เป็นตรอกเล็กๆ เชื่อมในชุมชน  ซึ่งหลังจากวาดภาพเสร็จแล้ว ในอนาคตจะมีการสร้างซุ้มทางเข้า เพื่อให้นักท่องเที่ยวสังเกตเห็นว่าถนนเส้นนี้ มีผลงานศิลปะอยู่ภายใน  การวาดภาพจะเน้นวิถีชีวิตชุมชน และ สิ่งที่เคยมีในปัจจุบันและในอดีตอย่าง เช่น หอนาฬิกา สามล้อถีบ รถสองแถวที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอวังทอง  หลังจากก่อนหน้านี้ตลาด 120 ปีวิถีชาววัง ทางอำเภอวังทองส่งเสริมให้เกิดเป็นจุดท่องเที่ยว ให้กับอำเภอวังทองประกอบกลับ อำเภอวังทอง ยังมีบ้านไม้เก่าโบราณ ที่เป็นอัตลักษณ์ที่หาดูได้ยากในหลายชุมชน เป็นเสน่ห์ที่ทำให้นักท่องเที่ยว เดินเที่ยวชมดูวิถีของชาววังทองในปัจจุบัน หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย คาดว่าในช่วงปลายปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาอำเภอวังทอง เพื่อถ่ายภาพจุดแลนด์มาร์คใหม่ แห่งนี้จำนวนมาก

 

 

///////

แสดงความคิดเห็น