เมื่อวันที่ 17 ก.ย.65 ที่โรงแรมเรือนแพ รอแยล ปาร์ค อ.เมืองพิษณุโลก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิด โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะทางปัญญาและการคิดวิเคราะห์ของเด็กชั้นอนุบาล ผ่านกิจกรรมการเล่านิทานสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) โดยมี ผศ.ดร.สุดากาญจน์ ปัทมดิลก หัวหน้าโครงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองหรือครูจิตอาสาโรงเรียนอนุบาลและประถมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร (ปฐมวัยและประถมศึกษา) กล่าวรายงานว่า การเปิดทำการสอนในปีการศึกษา 2562 ในระดับชั้นอนุบาล 1 และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง การขยายผลต้นแบบการสอน English for Integrated Studies (EIS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน ร่วมกับโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์สื่อสารสงเคราะห์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจะมีการเปิดอบรมโครงการ ปรากฏว่า ผศ.ดร.สุดากาญจน์ ปัทมดิลก ได้เซอร์ไพร์ส ให้กับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังสี โดยพร้อมมีการนำเค้กจุดเทียนมาให้เป่า เนื่องจากจะถึงวันเกิดล่วงหน้าจะครบรอบอายุ 82 ปี ในวันที่ 19 ก.ย. 2565 พร้อมมีการนำเค้กจุดเทียนมาให้เป่า โดยผู้ที่มาร่วมประชุม ต่างร่วมร้องเพลงแฮปปีเบิร์ดเดย์ให้อีกด้วย โดยเจ้าของวันเกิดไม่ทันตั้งตัว จนน้ำตาเบ้าด้วยความปลื้มปิติอย่างมีความสุข ตลอดทั้งผู้ที่เข้าร่วมประชุมสร้างแสดงความยินดีในครั้งนี้ด้วย
ผศ.ดร.สุดากาญจน์ กล่าวอีกว่า คณะนักวิจัยได้ดำเนินการ (1) พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมครูและคู่มือการฝึกอบรมต้นแบบ นิเทศ กำกับ และติดตามผลการปฏิบัติงานของครูกลุ่มเป้าหมายชั้นอนุบาล 1 และ 2 ของโรงเรียนทั้ง 2 แห่ง (2) ประเมินผลการใช้หลักสูตรและประเมินคู่มือการฝึกอบรม และ (3) ประเมินประสิทธิผลของการจัดการเรียนการสอนแบบ EIS ที่เกิดกับผู้เรียน การวิจัยเป็นแบบมีส่วนร่วมหลาย ขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนที่ (2) คณะผู้วิจัยได้จัดให้มีการฝึกอบรมเทคนิคการเล่านิทานภาษาอังกฤษสำหรับครู EIS ปฐมวัย
โดยพบว่า หลักสูตรการฝึกอบรมการเล่านิทานภาษาอังกฤษมีความเหมาะสมดี และ หนังสือนิทานมีประโยชน์มาก คณะผู้วิจัยจึงสนับสนุนให้ครูปฐมวัยร่วมมือกับภาคเอกชนที่จัดกิจกรรมเสริมทักษะภาษาอังกฤษ จัดกิจกรรมเสริมการใช้ภาษาอังกฤษให้แก่เด็กชั้นอนุบาล 1 และ 2 และให้มีครู ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชนจิตอาสาร่วมเล่านิทานภาษาอังกฤษแบบสองภาษาด้วย ต่อมาในปี 2564 คณะผู้วิจัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจาก วช. เพื่อดำเนินโครงการวิจัยนี้ คือ โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะทางปัญญาและการคิดวิเคราะห์ของเด็กชั้นอนุบาลผ่านกิจกรรมการเล่านิทานสองภาษา คือ ไทย-อังกฤษ
ทั้งนี้ โรงเรียนร่วมพัฒนาทั้ง 3 แห่งได้จัดทำคลิปนิทานจำนวน 21 เรื่อง (1 โรงเรียน จัดทำคลิปนิทานภาษาไทย 2 เรื่อง สองภาษา 2 เรื่อง ภาษาอังกฤษ 2 เรื่อง และท้องถิ่น 1 เรื่อง) ทดลองใช้สื่อดังกล่าวกับกลุ่มตัวอย่าง และเก็บรวบรวมข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ทางคณะผู้วิจัยจึงดำเนินการจัด “การประชุมสะท้อนผลและขยายผลเพื่อพัฒนาทักษะทางปัญญาและการคิดวิเคราะห์ของเด็กชั้นอนุบาลผ่านกิจกรรมการเล่านิทานสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) โดยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองหรือครูจิตอาสาเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยต่อไป โดยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองหรือครูจิตอาสา มีโรงเรียนจิตอาสา 3 แห่งในเขตจังหวัดพิษณุโลก ผ่านการคัดเลือกเป็นโรงเรียนร่วมพัฒนา คือ โรงเรียนบ้านกร่าง (พระขาวชัยสิทธิ์) โรงเรียนบ้านเขาสมอแคลง (ริ้วศิริวัฒน์อุปถัมภ์) และโรงเรียนวัดโบสถ์
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้จัดการประชุมปฏิบัติการจำนวน 3 หลักสูตร เพื่อจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ สร้าง/คัดเลือกสื่อสำหรับการอ่านนิทานสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) รวมทั้งผลิตสื่อการเล่านิทานผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ครู/ผู้ปกครองได้ใช้ สำหรับการเล่านิทานสำหรับเด็ก ตามนโยบายด้านการศึกษาของชาติที่ต้องการพัฒนาทักษะสำคัญด้านต่างๆ ของเด็ก เช่น ทักษะทางสมอง ทักษะความคิดความจำ ทักษะการควบคุมอารมณ์ ทักษะการรู้จักและประเมินตนเอง คือ หลักสูตรที่ 1: การพัฒนาทักษะการเล่านิทานสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) ของครูปฐมวัยและผู้ปกครองจิตอาสา กรณีโรงเรียนร่วมพัฒนาในจังหวัดพิษณุโลก หลักสูตรที่ 2: การเสริมทักษะการเล่าเรื่องภาษาอังกฤษ และความรู้เรื่องการผลิตวีดีโอสั้นเพื่อเล่านิทานสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) ให้กับเด็กอนุบาล และหลักสูตรที่ 3: การประเมินทักษะทางปัญญาและการคิดวิเคราะห์ของเด็กชั้นอนุบาลผ่านกิจกรรมการเล่านิทานสองภาษา (ไทย-อังกฤษ)