สืบสานประเพณีทอดผ้าป่าหัวเรือถวายผ้าห่มพระพุทธชินราช เปิดงานแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 17 กันยายน 2565 ที่บริเวณลำน้ำน่านหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เทศบาลนครพิษณุโลก ร่วมกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมประชาชนชาวพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียงจำนวนมากเข้าร่วมงานพิธีเปิดประเพณีทอดผ้าป่าหัวเรือ ถวายผ้าห่มพระพุทธชินราช เปิดงานแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานประจำปี 2565 มีกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน 2565  เพื่ออนุรักษ์และสืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งสายน้ำน่านของชาวจังหวัดพิษณุโลกเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบสานต่อ และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลก

การแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานจังหวัดพิษณุโลก ได้ดำเนินการจัดการแข่งขัน เรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 เป็นต้นมา และได้หยุดจัดไปเป็นเวลา 2 ปี จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และมาจัดต่อในปีนี้เป็นครั้งที่ 41 ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานถ้วยรางวัลสำหรับเรือยาวใหญ่ประเภท ก.

สำหรับพิธีเปิดงาน แข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน  ทางเทศบาลนครพิษณุโลกได้ร่วมกับชาวบ้านตำบลวัดพริก ชุมชนสองฝั่งลำน้ำน่าน จัดประเพณีแห่ผ้าป่าหัวเรือ และแห่ผ้าห่มหลวงพ่อพระพุทธชินราช ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการแข่งขันเรือยาวในจังหวัดพิษณุโลก มีขบวนแห่ผ้าป่าหัวเรือ และผ้าห่มหลวงพ่อพระพุทธชินราช มาทางแม่น้ำน่าน ขึ้นมาถวายพระภิกษุสงฆ์ ประเพณีการร้องเพลงพื้นบ้านจากนั้นนายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกได้เดินนำขบวนนำผ้าห่มหลวงพ่อพระพุทธชินราชไปถวาย ในวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช

ตามตำนานเล่าขานมาว่า ประเพณีทอดผ้าป่าหัวเรือและแห่ผ้าห่มหลวงพ่อพระพุทธชินราช เริ่มมาตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 5 เป็นเวลาประมาณ 120 ปีมาแล้ว  ในทุกๆปีหลังเทศกาลออกพรรษา ชาวบ้านตำบลวัดพริก วัดท่าโรง ชุมชนสองฝั่งลำน้ำน่านด้านทิศใต้ของอำเภอเมืองพิษณุโลก จะนำผ้าป่าบรรทุกเรือพ่วงไปทางลำน้ำน่าน ผ่านไปถึงวัดไหนก็ทอดผ้าป่าวัดนั้นเรื่อยไปจนถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร(วัดใหญ่) เมื่อเสร็จพิธีมีกิจกรรมฉลองผ้าป่าด้วยเพลงเรือ เพลงเกี้ยวพาราสี และการละเล่น บนเส้นทางน้ำกลับสู่ชุมชนของตน และเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีการแข่งเรือของ จ.พิษณุโลก

สำหรับประเพณีการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน ที่ จ.พิษณุโลก มีไฮไลด์ในปีนี้พบกับ การแข่งขันคู่พิเศษ คู่เปิดสนาม  เป็นการแข่งขันของเรือโบราณ (ฝีพายไม่เกิน 55 ฝีพาย) เป็นการแข่งขันเที่ยวเดียว ไม่กลับสายน้ำ และไม่มีผลต่อการแข่งขัน คู่ที่ 1 เรือพรพระเทพ    พบกับ  เรือแม่ขวัญมงคลทอง   คู่ที่ 2 เรือหลวงไพฑูรย์ ต.วัดพริก พบกับ  เรือสิงห์สองแคว

โดยการแข่งขันเรือยาวแบ่งออกเป็น 9 ประเภท ดังนี้ อาทิ เรือยาวใหญ่ประเภท ก. 45 ฝีพายตั้งแต่ 41 คน รางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมรางวัลเงินสด 50,000 บาท และพระพุทธชินราชบูชา ประเภท เรือยาวใหญ่พื้นบ้าน รางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี  พร้อมรางวัลเงินสด 30,000 บาท และพระพุทธชินราชบูชา เป็นต้น นอกจากนี้ในภาคกลางคืน เทศบาลนครพิษณุโลกได้จัดเทศกาลอาหารอร่อย ไร้แอลกอฮอล์ ตั้งแต่วันที่ 16-18 กันยายน 2565 ตั้งแต่เวลา 17.00น. เป็นต้นไป ที่บริเวณ สวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ และ สวนกลางเมืองพิษณุโลก โดย ฉายภาพยนตร์กลางแปลง จำนวน 2 เรื่องต่อวัน และ รำวงย้อนยุค พร้อมทั้งมีการจำหน่ายอาหารอร่อยให้ผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย ถือเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของเมืองพิษณุโลกอีกทางหนึ่งด้วย

/////////////////////////

 

แสดงความคิดเห็น