วันนี้ ( 20 ส.ค.) พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตแก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้เดินทางมาเป็นประธาน ในกิจกรรมวันคล้ายวันสถาปนากองทัพภาคที่ 3 ครบรอบปีที่ 120 ที่ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 ให้การต้อนรับ โดยผู้บัญชาการทหารบก ได้ขึ้นแท่นรับความเคารพจากแถวทหารกองเกียรติยศ จากนั้น ได้ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระรูปพระสุพรรณกัลยา พร้อมทั้งเดินทางมายังสโมสรบันเทิงทัพ เพื่อเยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลการปฏิบัติ โครงการเดินตามรอยเท้าพ่อเกษตรอินทรีย์กองทัพภาคที่ 3 ของหน่วยทหารในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 และเยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการผลการดำเนินงานในห้วงที่ผ่านมาของกองทัพภาคที่ 3 ทั้งในการปฏิบัติภารกิจตอบสนองนโยบายของกองทัพบก และรัฐบาล ภารกิจด้านความมั่นคงภายใน และตามแนวชายแดน การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า, การบรรเทาภัยแล้ง, อุทกภัย , การช่วยเหลือภัยพิบัติในพื้นที่ภาคเหนือ และโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ของศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.ภาค 3
จากนั้นผู้บัญชาการทหารบก ได้บันทึกภาพเป็นที่ระลึกกับอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 และนายทหารอาวุโสของกองทัพภาคที่ 3 ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว และยังได้เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากองทัพภาคที่ 3 ครบรอบปีที่ 120 เพื่ออุทิศให้อดีตผู้บังคับบัญชา และกำลังพล ที่ล่วงลับไปแล้วท่ามกลางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 อย่างเข้มข้น ถึงแม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายไปแล้วก็ตาม
สำหรับ กองทัพภาคที่ 3 ก่อกำเนิด เมื่อ 20 สิงหาคม 2445 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบเนื่องมาจากเงี้ยวบ้านบ่อแก้ว แขวงเมืองลอง และบ้านป่าผึ้ง แขวงสูงเม่น จังหวัดแพร่ ได้รวมตัวเป็นกบฏก่อการจลาจล ใช้อาวุธปืนบุกเข้ายึดเมืองแพร่ พระยาไชยบูรณ์ ข้าหลวงกำกับราชการแพร่ ได้รวบรวมกำลังต่อสู้ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้ พลโทเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกำลังเข้าปราบปราม ระหว่างทางเมื่อผ่านทางพิษณุโลก พิชัยและอุตรดิตถ์ก็ได้เกณฑ์กำลังไปช่วยด้วย จนสามารถปราบปรามกบฏเงี้ยวได้สำเร็จ เมื่อ 20 สิงหาคม 2445 ในการเดินทางกลับ เมื่อผ่านเมืองพิษณุโลก ได้หยุดตั้งค่ายพักแรม และได้พิจารณาเห็นว่าภาคเหนือควรมีทหารประจำการณ์ไว้บ้าง จึงจัดตั้งกองทหารขึ้น 1 กอง ประจำอยู่ที่พิษณุโลก และเป็นที่มาของกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ติดกับแม่น้ำน่าน มาจนถึงปัจจุบัน โดยถือเอา วันที่ 20 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ปราบกบฏเงี้ยวได้สำเร็จ จึงเป็นวันคล้ายวันสถาปนา กองทัพภาคที่ 3 จวบจนถึงปัจจุบันมี พลโท ประพันธ์ กุลพิจิตร เป็น แม่ทัพภาคที่ 3 คนแรก และ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีความพร้อมลักษณะของผู้นำ มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้กองทัพภาคที่ 3 มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น กองทัพภาคที่ 3 เป็นกำลังรบหลักของกองทัพบก ที่รับผิดชอบในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ
ด้วยเกียรติประวัติที่ยาวนานจากอดีตสู่ปัจจุบัน ครบ 120 ปี แห่งการสถาปนาหน่วย กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งเป็นเกียรติประวัติที่สำคัญยิ่ง โดยมีภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพบกการปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยภายในและกำกับดูแลแนวชายแดน เพื่อมิให้เกิดการกระทบกระทั่ง ที่อาจจะกระทบถึงความสัมพันธ์ที่ดีของมิตรประเทศทั้งการรุกล้ำอธิปไตย การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พร้อมการสร้างความสัมพันธ์ทางทหารกับต่างประเทศ การพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งจะรวมถึงการปฎิบัติภารกิจต่อภัยคุกคามที่มิใช่สงคราม เพื่อความมั่นคงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดน การสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยมีกองกำลังป้องกันตามแนวชายแดนจำนวน 2 กองกำลัง คือกองกำลังนเรศวรรับผิดชอบพื้นที่ตามแนวชายแดนจังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน และกองกำลังผาเมืองรับผิดชอบพื้นที่ตามแนวชายแดนจังหวัดเชียงใหม่จนถึงจังหวัดพิษณุโลก การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติทุกประการซึ่งในพื้นที่ตอนบนของประเทศจะประสบกับปัญหาหมอกควันเนื่องจากการเผาทำลายเพื่อหาของป่าและอากาศที่ร้อนจนทำให้เกิดไฟป่าขึ้น
กองทัพภาคที่ 3 จึงได้จัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 3 ขึ้นในหน่วยทหารที่กองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกองทัพภาคที่ 3 เป็นป่าและภูเขา ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ ปัจจุบันกองทัพภาคที่ 3 ถือว่าเป็นภารกิจที่เร่งด่วนและสำคัญ แม้นจะดูแลในพื้นที่ภาคเหนือแต่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำด้วย และภารกิจที่สำคัญยิ่งของกองทัพภาคที่ 3 คือ ตั้งศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.ภาค 3 เพื่อร่วมทำกิจกรรมกับส่วนราชการและประชาชน ในการช่วยเหลือดูแล บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน
////////////