เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 18 ก.ค.65 ที่ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ได้มีกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) และชาวบ้านที่ประสบปัญหาที่ดินทับซ้อนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ 5 จังหวัด ประมาณ 100 คน นำโดย นางอารมย์ คำจริง ประธานประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ(ปปท.) ได้รวมตัวเดินขบวนจากที่ว่าการอำเภอเนินมะปราง เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการส่งมอบที่ดินนิคมสหกรณ์วังทองคืนให้กับกรมป่าไม้ เนื่องจากชาวบ้านได้อยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าวมานานกว่า 30 ปี จนได้สิทธิ นค.3 และ นค.5 รวมทั้งบางส่วนได้ยื่นออก นส.3 และ โฉนดที่ดินเฉพาะรายไปแล้ว แต่พบว่าปัจจุบันนิคมสหกรณ์วังทองได้แจ้งว่าส่งมอบที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชนจำนวนมากกลับไปเป็นที่ดินของป่าไม้ อย่างมีเงื่อนงำ ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิในที่ดินทำกินของประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งเรียกร้องให้ช่วยตรวจสอบกรณีบริษัทลูกของบริษัท รีสอร์ลเซล จำกัด อาจมีสิทธิ์ได้อาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจแร่ในพื้นที่อ.เนินมะปราง รวมเนื้อที่กว่า 400,000 ไร่ เบื้องต้นในเมื่อเวลา 09.00 น. ที่ที่ว่าการอำเภอเนินมะปราง ทางด้านนายไสว เจริญศรี นายอำเภอเนินมะปราง ได้เป็นผู้มารับหนังสือจากแกนนำกลุ่มฯ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน ก่อนเดินทางต่อมา พบนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ที่ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก
โดย นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นายธีรัชสิทธิ์ วงศ์วาน ผอ.สำนักงานทรัพย์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายอธิปไตย ไกรราช ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพิษณุโลก ได้เดินทางมารับเรื่องร้องเรียนจาก กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ซึ่งระบุว่าเนื่องจากประชาชนอยู่อาศัยทำกินในที่ดินนิคมสหกรณ์วังทอง มากว่า 30 ปี และได้สิทธิ นค.3 และ นค.5 ซึ่งประชาชนบางส่วนได้ยื่นออก นส.3 และ โฉนดที่ดินเฉพาะรายไปแล้ว เนื่องจากมีสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่พบว่าล่าสุดขณะนี้นิคมสหกรณ์วังทองได้แจ้งว่าส่งมอบที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชนจำนวนมากกลับไปเป็นที่ดินของป่าไม้ และจะส่งผลทำให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิในที่ดินทำกินเดิมของประชาชนจำนวนมาก และปัญหาที่ดินอยู่อาศัยของประชาชนจำนวนมาก ตลอดเส้นทางทองคำหลังตกอยู่ใต้คำขอและอาชญาบัตรพิเศษของบริษัทเหมืองทองคำข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่ได้ระบุที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชนจำนวนมากเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศไปนานแล้ว ในขณะที่ประชาชนจำนวนมาก กลับถูกดำเนินการให้ขาดสิทธิในที่ดินอยู่อาศัยทำกิน
นางอารมย์ คำจริง ประธานประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ(ปปท.) เปิดเผยว่า วันนี้กลุ่มชาวบ้าน จาก เดือดร้อนจากการดำเนินการส่งมอบที่ดินนิคมสหกรณ์ฯ คืนให้กับกรมป่าไม้ เหมือนกฎหมายป่าไม้มาครอบที่ดินของประชาชน ประเด็นถ้าเราออกจากที่ดินนิคมสหกรณ์ มาอยู่กับกรมป่าไม้แล้วจะเปิดช่องว่างให้กับ พรบ.แร่ มาตรา 54 (4) ซึ่งบริษัทเอกชนสามารถมาขอให้พื้นที่สำหรับทำเหมือง โดยมีข้อความเขียนไว้ว่า ว่าที่ใดทำเหมืองสามารถมาขอให้พื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลพื้นที่นั้น หากวันนี้มีการยกที่ดินนิคมสหกรณ์ฯที่มีการรังวัดจัดแปลงให้ชาวบ้านหมดแล้วจำนวนกว่า 2 แสนไร่ มาอยู่ในหน่วยงานของป่าไม้ ชาวบ้านเกรงว่าก็จะถูกละเมิดสิทธิ์ ถูก 2 ข้อหา คือ ชาวบ้านละเมิดสิทธิ์เข้าไปบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวน และบุกรุกเข้าไปในเขตสัมปทานของบริษัทเอกชน ทำให้ชาวบ้านจำเป็นต้องมาร้องคัดค้านในครั้งนี้ โดย1 ขอคัดค้านในการไม่ให้มีการยกที่ดินนิคมสหกรณ์ฯกลับคืนไปให้กับกรมป่าไม้ 2 คัดค้านห้ามไม่ให้เอากฏหมายป่าไม้ชนิดใดมาครอบที่ดินของชาวบ้าน 3 ชาวบ้านจะไม่ร่วมโครงการ คทช และ 4 ของให้หน่วยงานออกเอกสารสิทธิ์ เป็นโฉนดให้กับชาวบ้าน โดยเร็ว
“ก่อนหน้านี้ทางนายอำเภอได้มีการเชิญชวนให้ชาวบ้าน เข้าร่วมกับโครงการ คทช. ทางหน่วยเหนือสั่งมาให้เข้าร่วม แต่ไม่มีการชี้แจงผลดีผลเสีย การเสียสิทธิ์ในที่ดินของประชาชนว่าไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะ คทช.เอกสารสิทธิ์แปลงรวมไม่สามารถจำนำจำนองอะไรได้ ไม่เหมือน สปก. ทำให้ชาวบ้านร้อนใจถ้าไปอยู่ของกรมป่าไม้แล้ว ชาวบ้านจะอยู่อย่างไง ถ้าให้เช่าไป 5 ปี 10 ปี แล้วมีเอกชนให้มากกว่าเหนือกว่า อ้างว่าเพื่อความมั่นคง เพื่อความกินดีอยู่ดีของคนทั้งประเทศ แล้วคนเนินมะปรางเราไม่เสียสละ คนเนินมะปรางไม่เอาค่ะ เพราะวันนี้เรามีทองบนแผ่นดิน เรามีข้าวหอมมะลิ มีมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง แล้วทำไมต้องขุด ถ้าวันนี้ขุดทองคำ เราเขียนกฎหมาย ประชาชนเขียนกฎหมายแล้วแต่ติดกฎหมายกระทรวงอุตสาหกรรม ว่ากฏหมายของประชาชนที่จะคุ้มครองทองคำให้เป็นสมบัติชาติ ถ้าวันนี้ประชาชนเนินมะปรางต้องเสียสละ ทองคำต้องเอาเข้าเป็นสมบัติชาติเป็นความมั่นคงของทุกๆคน แบบนี้ประชาชนรับได้ แล้วมาพูดคุยกัน”
อย่างไรก็ตามบรรยากาศในการร้องคัดค้าน ได้มีการลั่นกลองศึก ตลอดที่มีการเดินประท้วง และการเข้าไปยื่นหนังสือกับผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก โดยประชาชนบอกว่า กลองศึก ที่นำมานั้น ได้ไปยืมวัดแห่งหนึ่ง เพื่อมาใช้ในการปลุกพลังชาวบ้าน ในการต่อสู้เพื่อชาวบ้านส่วนรวมในครั้งนี้ ไม่ต่างการทำศึก ซึ่งชาวบ้านหวังให้หน่วยงานทุกฝ่ายช่วยเหลือให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านที่เดือดร้อนด้วย
/////////