เมื่อเวลา 15.30 น.ของวันที่ 9 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดราชบูรณะ จ.พิษณุโลกนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมคณะได้เดินทางตรวจราชการในพื้นที่ จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก พร้อมทั้งตรวจความคืบหน้าในการบูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในอุโบสถ วัดราชบูรณะ หลังจากเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ ในปีที่ผ่านมา ส่งผลภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่มีอายุหลายร้อยปีเสียหาย และลวดลายทอง ถูกเขม่าควันไฟรมจนดำ ชั้นสีชำรุด หลุดร่วง รอยถลอก ขูด ขีด และเกิดคราบสกปรก ทำให้กรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ จึงได้จัดทำโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมภายในอุโบสถ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565ถึงเดือนกันยายน 2565
สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติงานการอนุรักษ์จิตรกรรมภายในอุโบสถ ทางเจ้าหน้าที่จะได้สำรวจและบันทึกสภาพความชำรุดของจิตรกรรมก่อน และระหว่างการอนุรักษ์ด้วยการถ่ายภาพเก็บไว้ จากนั้นติดตั้งนั่งร้านและบันทึกหลักฐานสภาพความชำรุดด้วยการเขียนลายเส้นรูปสัญลักษณ์ จากนั้นทำความสะอาดผิวจิตรกรรม, ทำการเสริมความมั่นคงให้กับชั้นรองพื้นที่ และชั้นสีของจิตรกรรม,ทำการเสริมความมั่นคงให้กับชั้นปูนฉาบ,ปิดทองคำเปลว 100% ซ้อมในรอยชำรุดของจิตรกรรมลวดลายทอง ,ทำการเขียนสีซ่อมจิตรกรรมตามหลักวิชาการอนุรักษ์ ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาพนังได้กว่า 80% แล้ว คาดว่า จะแล้วเสร็จตามโครงการที่กำหนด
สำหรับวัดราชบูรณะ ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดราชบูรณะไว้เป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53ตอน 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 และกรมศิลปากรได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ดังนี้ คือ ปี พ.ศ. 2528 บูรณะวิหารหลวง ปี พ.ศ. 2530 อนุรักษ์ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ และปี พ.ศ. 2533 บูรณะเจดีย์หลวง โดยเสริมความมั่นคงทางรากฐาน และต่อยอดพระเจดีย์ทรงลังกาซึ่งหักชำรุดหายไปให้บริบูรณ์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นสันนิษฐานว่าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เพราะได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ แล้วให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องรามเกียรติ์ และมีการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารแล้วให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องพระพุทธประวัติ
////////////