เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 เม.ย. 2565 นายจรวย ดีแล้ว ส.จ. เขต อ.เมืองพิษณุโลก ในฐานนะแกนนำประธานอนุรักษ์บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก พร้อมด้วยกลุ่มชาวบ้านบ้านกร่างจำนวนกว่า 100 คน เดินทางยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เพื่อขอคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 9.9 เมกะวัตต์ เนื่องจากหวั่นชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางด้านต่างๆ ของโรงไฟฟ้าขยะ ประกอบกับชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยมีการทำประชาคมหรือประชาวิจารณ์จากชาวบ้าน
ทั้งนี้ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก มีความประสงค์ที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าระบบปิด ตามโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ พื้นที่ตั้งโครงการคือ หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งดำเนินในลักษณะร่วมทุนโดย องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง เป็นผู้ดำเนินโครงการแล้วให้เอกชนที่เข้ามารับโครงการเป็นผู้ลงทุน หลังจากที่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น และประชาสัมพันธ์โครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิด ซึ่งมีการจัดประชุมกันใน วันที่ 25 กันยายน 2561 ขณะนั้นถูกคัดค้านโดยประชาชนในพื้นที่ของกลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่าง โดยตัวแทนราษฎรยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และแม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งราษฎรในพื้นที่คิดว่าโครงการนี้ต้องไม่เกิดขึ้นในพื้นที่อีกแล้ว
ต่อมา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง ได้มีประกาศ เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง เป็นผู้ดำเนินการโครงการทั้งหมดในทุกหมู่บ้าน ที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 3 กิโลเมตร รวมได้ 6 หมู่บ้าน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เหตุผลว่าเป็นการดำเนินการอย่างตามนโยบายต่อเนื่อง โดยการแจกแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วไปประจำแต่ละหมู่บ้าน เพื่อตอบแบบสอบถามเป็นรายบุคคลในการรับฟังความคิดเห็น การดำเนินงานของโครงการเป็นไปอย่างเร่งด่วนโดยอ้างว่าเป็นภารกิจของภาครัฐในการดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทย
กลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่างจึงขอคัดค้านการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ตามโครงการดังกล่าว เพราะเห็นว่าการดำเนินการไม่เป็นไปด้วยความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล และมีความไม่ถูกต้อง ทั้งนี้กลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่าง จึงขอให้ผู้มีอำนาจ พิจารณายับยั้งโครงการดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่อีก จนกว่าการดำเนินการจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนถูกต้องโปร่งใส ตามขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์ที่สมบูรณ์ผลการดำเนินการเป็นประการใด กรุณาแจ้งหรือติดต่อประธานกลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่างทราบภายใน 15 วัน
หลังจากนั้น นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้ออกมาพบพูดคุยกับแกนนำพร้อมรับหนังสือคัดค้านจากกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป โดยกลุ่มผู้ชุมนุมพึงพอใจก่อนจะแยกย้ายกันกลับไปในที่สุด.
//////////