ศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จารุภา วิโยชน์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต คณะเภสัชศาสตร์ ร่วมกับ คุณธวัช สิงหเดช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และนักปั่นมืออาชีพ กลุ่มจักรยานวันอาทิตย์ (We Are SCAT Phitsanulok) มาร่วมปั่นจักรยานเก็บยาเหลือใช้ โดยกิจกรรมนี้มีนักปั่นมากกว่า 30 คัน ซึ่งมีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ได้ยาเหลือใช้กลับมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ได้ทำการคัดแยกยาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ยาที่หมดอายุ เสื่อมสภาพจะนำไปดำเนินการทำลายอย่างถูกต้อง ส่วนยาที่ยังสามารถใช้ได้อยู่ ก็จะดำเนินการจัดส่งไปยังสถานพยาบาลที่มีความต้องการ โดยเฉพาะสถานพยาบาลที่อยู่ห่างไกล หรือ หมู่บ้านตามชายขอบที่ต้องการยารักษา แต่ไม่สิทธิ์เข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลของรัฐ
ผศ.ดร.ภก.ดำรงศักดิ์ เป๊กทอง อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ กล่าวว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรจัดกิจกรรมการจัดการปัญหายาเหลือใช้ในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยนเรศวรอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ทุกท่านตระหนักถึงปัญหายาเหลือใช้ในครัวเรือน แม้ว่าสาเหตุของการเกิดยาเหลือใช้อาจมาจากพฤติกรรมของผู้ป่วย ที่ลืมรับประทานยา รับประทานยาผิด หยุดรับประทานยา หรือมีสาเหตุจากบุคลากรทางการแพทย์จ่ายยาเกิน ปรับเปลี่ยนการรักษา ฯลฯ ซึ่งปัญหายาเหลือใช้ดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบตามมา เช่น เกิดการปนเปื้อนของยาในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในดินหรือแหล่งน้ำจากการกำจัดยาที่ผิดวิธี ด้านสุขภาพ เกิดการใช้ยาไม่ตรงกับ ข้อบ่งใช้หรือได้รับยาในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ด้านงบประมาณ ทำให้เกิดรายจ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น
กิจกรรมนี้สอดคล้องกับพันธกิจในการบริการวิชาการที่ตอบสนองต่อความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยหล่อหลอมให้นิสิตได้ฝึกคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รู้จักการทำงานร่วมกันกับคนในชุมชน ได้เล็งเห็น ถึงความสำคัญของวิชาชีพเภสัชศาสตร์ต่อการจัดการปัญหายาเหลือใช้ในชุมชน อันจะนำไปสู่การจัดการยาเหลือใช้ ที่เป็นต้นแบบสามารถนำไปต่อยอดใช้ในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ
ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ยาจากการรับบริจาคของชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านท่าโพธิ์ และบ้านวังส้มซ่า ต.ท่าโพธิ์ อ.เมืองพิษณุโลก ได้ยามาจำนวน 2 คันรถยนต์กระบะ โดยหลังจากนั้นทางนิสิตคณะเภสัชฯ ก็จะร่วมกันคัดแยก และทำลายแบบถูกวิธี ในเตาเผาทำลายด้วยเตาอุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส เพื่อให้ยาถูกกำจัดอย่างสมบูรณ์และไม่เกิดมลพิษตกค้าง ส่วนยาที่ยังสามารถใช้ได้อยู่ ก็จะดำเนินการจัดส่งไปยังสถานพยาบาลที่มีความต้องการ โดยเฉพาะสถานพยาบาลที่อยู่ห่างไกล หรือ หมู่บ้านตามชายขอบที่ต้องการยารักษา แต่ไม่สิทธิ์เข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลของรัฐ
ขอเชิญชวนท่านมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการยาเหลือใช้อย่างเป็นระบบ กับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยการคืนยาเหลือใช้ที่สถานพยาบาล (โรงพยาบาล, รพ.สต.) ที่รับยามา ,นำยาเหลือใช้ มาส่งที่ร้านยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สาขา 2 (ประตู 4) โดยกิจกรรมนี้ครั้งต่อไปจะจัดไปรับยาตามบ้านเรือนที่หมู่บ้านคลองหนองเหล็ก ซึ่งเป็นหมู่บ้านรอบรั้วมหาวิทยาลัยนเรศวร ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 นี้