“จ่าทวี” ครูพุทธศิลป์ด้านการหล่อ-ปั้น พระพุทธชินราช ที่งดงาม มาอย่างยาวนาน

จังหวัดพิษณุโลก ถือว่าเป็นเมืองประวัติศาสตร์อันยาวนาน ที่น่าสนใจอีกจังหวัดหนึ่งของเมืองไทย แต่ที่สำคัญนอกจากทางประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวมากมายแล้ว จังหวัดพิษณุโลกยังมีชื่อเสียง คือเป็นแหล่งสร้างงานพุทธศิลป์ที่มีความงดงาม ขึ้นชื่อ เป็นที่รู้จักที่สร้างรายได้สู่จังหวัดพิษณุโลกอย่างมากคือการ ปั้น หล่อพระพุทธรูป โดยเฉพาะพระพุทธชินราช จำลอง ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่นด้วยรูปแบบที่ลงตัว สมส่วน ยากที่จะเลียนแบบได้ นั่นก็คือผลงานของจ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ หรือ ที่หลายคนเรียกว่า ลุงจ่าทวี ผู้บุกเบิก นำพาผู้คนมาฝึกอาชีพงานปั้นหล่อพระคนแรกของจังหวัดพิษณุโลก จนปัจจุบันจังหวัดพิษณุโลก และเป็นปราชญ์ที่ขึ้นชื่อในผลงานด้านการปั่นหล่อพระพุทธรูปของเมืองไทย

งานพุทธศิลป์ที่ได้รับการยกย่องถึงฝีมือการปั้น-หล่อ ของจ่าทวี คือพระพุทธชินราช ที่สามารถปั้น-หล่อ รังสรรค์ออกมาได้อย่างงดงาม มีสัดส่วนที่คล้ายคลึงกับองค์จริง ถูกต้องตรงตามรูปแบบของอัตลักษณ์ไว้ซึ่งความงดงามของพระพักตร์ และสัดส่วนพระพุทธชินราชที่ปั้น หล่อด้วยฝีมือของจ่าทวี ได้อาศัยการถอดต้นแบบมาจากองค์พระพุทธชินราช ที่ประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณะเขตต์ กล่าวว่า หลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการสร้างสรรค์ผลงานพุทธศิลป์มาโดยตลอด คือผู้สร้างพระพุทธรูปต้องมีความตั้งใจที่ดี ยึดถือหลักพระพุทธศาสนา นำมาปฏิบัติให้ตัวเองมีจิตใจที่สงบ  สะอาด หลีกเลี่ยงจากอบายมุขทั้งปวง ดำรงตนอยู่ในศีล 5 เมื่อมีจิตใจที่ดีแล้วก็สามารถทำงานได้ดี ทั้งยังต้องมีจิตมุ่งมั่นปรารถนาดีที่จะมีส่วนช่วยค้ำจุนดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา

การทำงานศิลปะนั้นต้องอาศัยความพยายามความตั้งใจความอดทน รวมถึงมีจิตใจที่มุ่งมั่นงานพุทธศิลป์ปั้นหล่อพระพุทธรูปผู้ทำต้องมีจิตใจบริสุทธิ์ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม ชมการถ่ายทอดสดให้เยาวชนมีใจที่จะอนุรักษ์ในงานศิลปะก็ต้องสอนตั้งแต่ยังเด็กให้เกิดการซึมซับพ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่างต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือเท่านี้ทุกคนก็จะช่วยกันอุ้มชูศิลปะของชาติรักษาความเป็นชาติให้คงอยู่ต่อไป

สำหรับจ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ เป็นปูชนียบุคคล ของจังหวัดพิษณุโลก เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2475 ที่บ้านคลองเตาไห ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เนื่องจากครอบครัวมีฐานะไม่ดี และมีพี่น้องมากท่านจึงจบการศึกษาเพียงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ท่านจึงต้องช่วยพ่อแม่ทำงานต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา จ่าสิบเอกทวี ท่านได้สมัครเข้ารับราชการทหาร ในปี พ.ศ. 2498 ได้รับยศสิบตรี ตำแหน่งช่างเขียนฝ่ายยุทธโยธา ภาคทหารบกที่ 3 จ.พิษณุโลก ในระหว่างรับราชการทหาร ท่านได้มีโอกาสไปฝึกงานการหล่อโลหะที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ทำให้มีโอกาสพบกับ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี  ซึ่งถือว่าเป็นปราชญ์ด้านปฏิมากรรมในยุคนั้น  รวมทั้งอาจารย์ท่านอื่นในด้านศิลปกรรม คอยประสิทธิ์ประสาทวิชาการปั่น หล่อโลหะให้ จ่าสิบเอกทวี รับราชการทหาร จนถึงปี 2521 จึงลาออกเพื่อมาประกอบอาชีพส่วนตัวคือการรับจ้างปั้นหล่อพระพุทธรูป โดยเฉพาะพระพุทธชินราช ที่มีความงามเป็นอย่างมาก

ด้วยจ่าทวี ใช้ความรู้ในวิชาการปั้น-หล่อ มาถ่ายทอดให้แก่ช่างด้วยตนเองจนปัจจุบัน ผู้รับการถ่ายทอดหลายต่อหลายรุ่นสามารถนำไปสร้างอาชีพโรงหล่อพระกันได้อย่างกว้างขวางในวันนี้จ่าสิบเอกดร. ทวี บูรณเขตต์ ด้วยวัย 90 ปี มีลูกๆ ที่สืบทอดปนิธานที่ตั้งไว้  โดยเฉพาะนายธรรมสถิตย์ บูรณเขตต์ บุตรชายคนโต ที่อยากให้ความรู้ของบิดาไม่สูญหาย ให้เยาวชนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่าของภูมิปัญาท้องถิ่นชาวไทย

จากฝีมือในการหล่อพระพุทธชินราช อันยาวนานของจ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ ได้ถ่ายทอดความรู้จากลูกศิษย์ลูกหา หรือ ชาวบ้านที่สนใจในการหล่อพระ มาตั้งแต่ปี 2521 จากรุ่นสู่รุ่น จนสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับลูกศิษย์หรือชาวบ้าน มาจำนวนมาก อีกทั้งมีผลงานในการหล่อพระพุทธชินราช อันงดงาม ทำให้จ่าสิบเอกดร. ทวีบูรณเขตต์ ได้รับการเชิดชูเกียรติต่างๆมากมาย อาทิ มี เครื่องหมายเชิดชูเกียรติเป็นบุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาช่างฝีมือ แขนงช่างหล่อ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในปี 2516 ,ได้รับพระราชทานปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปศึกษา จากสภาการฝึกหัดครู ในปี 2527 , รับโล่ประกาศเกียรติคุณยกย่อง เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2560 , ได้รับรางวัลเพชรสยามประจําปี 2564 สาขาช่างฝีมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม, ได้โล่ประกาศเกียรติคุณรางวัลข้าของแผ่นดินด้านการส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรมประจำปี 2564 จาก สำนักงานเอกลักษณ์ของชาติสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ แม้ในวัยที่ล่วงเลยมาถึง 90  ปี แต่ยังมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์ปั้นหล่อพระพุทธรูปให้คงคุณค่าชิ้นงานพุทธศิลป์อันล้ำค่า เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ทุกคนในสังคม ได้ช่วยกันรักษารูปแบบวัฒนธรรมอันดีงามโดยเฉพาะงานด้านศิลปะซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาติ

///////////

 

 

 

 

แสดงความคิดเห็น