ม.นเรศวรเปิดตัวหอผู้ป่วยวิกฤตระบบทางเดินหายใจ

วันที่ 13 มกราคม 2565 ที่สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นินนาท ราชประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดตัว “หอผู้ป่วยวิกฤตระบบทางเดินหายใจ (Respiratory care unit : RCU)” แห่งแรกในภาคเหนือตอนล่าง

โดย ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “ หอผู้ป่วยวิกฤตระบบทางเดินหายใจ (Respiratory care unit : RCU) หรือ หอผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจจากโรงพยาบาลแล้วต้องสงสัยการติดเชื้อ COVID-19 อยู่ระหว่างการรอผลการตรวจที่แน่นอน หรือ ผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันการติดเชื้อแล้วรอการส่งต่อการรักษาไปยังหอผู้ป่วยอื่นๆ โดยความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยประมาณ 2 ปี ใน รพ.มน. เกิดเป็นองค์ความรู้ด้านวิชาการสำหรับใช้ใน รพ.มน. สามารถเป็นต้นแบบที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับ รพ.อื่น หรือ บ้านเรือนประชาชนได้
ทาง รพ.มน.ต้องขอขอบพระคุณผู้บริจาคห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ Negative Pressure Isolation Room จำนวน 6 หลัง ทำให้มีครุภัณฑ์ดูแลผู้ป่วย และได้ปรับปรุงสถานที่บริเวณ ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา 1 เป็นหอผู้ป่วย RCU แห่งแรกในเขตภาคเหนือตอนล่าง ที่มีความสมบูรณ์ทั้งทางกายภาพ เทคโนโลยีระบบถ่ายเทอากาศที่ปลอดภัยต่อผู้ป่วยและผู้ดูแล รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับการประยุกต์หลักการด้านระบบถ่ายเทอากาศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นินนาท ราชประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า “สำหรับหอผู้ป่วย RCU นี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้นำมาใช้ในการเรียนการสอนรวมถึงทำเป็นงานวิจัยขึ้นมาเป็นต้นแบบ โดยแบ่งเป็น 4 Zone เพื่อการรับและให้การดูแลผู้ป่วย ได้แก่
Zone A – Contaminate Zone (- -) เขตปนเปื้อนหรือพื้นที่ที่มีแรงดันอากาศเป็นลบ หรือ Negative Pressure เพื่อป้องกัน ไม่ให้เชื้อมาปะปนในอากาศและพื้นที่อื่นรอบด้าน
Zone B – Buffer Zone (-) เขตกั้นระหว่างพื้นที่ปนเปื้อนกับพื้นที่รอบด้าน
Zone C – Service Zone (+) เขตบริการ คือพื้นที่สำหรับเปลี่ยนชุดป้องกัน และทำความสะอาดร่างกายหลังการดูแลผู้ป่วย
Zone D – Clean Zone (++) เขตสะอาด คือพื้นที่ทำงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
การปรับปรุงหอผู้ป่วยนี้จะช่วยลดอัตราความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลระหว่างรอผลการตรวจยืนยัน รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือสามารถนำหลักการนี้ไปปรับใช้กับบ้านเรือนที่ต้องการแยกผู้ป่วยด้วยการดึงอากาศ และถ่ายเทอากาศ เช่น พัดลมดูดอากาศที่ขายตามท้องตลาด ขนาด 100-600 CFM ขึ้นอยู่กับขนาดห้องที่ใช้ด้วย

ในด้านการตรวจหาเชื้อจุลชีพที่มีอยู่ในอากาศและพื้นผิวของห้องต่าง ๆ ใน รพ.มน. การนี้ อ.ดร.ภก ประยุทธ ภูวรัตนาวิวิธ คณะเภสัชศาสตร์ ร่วมกับทีมพยาบาลทีมแพทย์ทำงานวิจัย พบว่า ในห้องที่จัดทำระบบถ่ายเทอากาศ ตั้งแต่ใช้งานมาก็ไม่พบเชื้อจุลชีพ ที่สำคัญคือ
ยังไม่พบรายงานแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจากการทำงานในห้องที่มีระบบแบบนี้ ในอนาคตคาดว่าจะเขียนเป็นคู่มือให้กับโรงพยาบาล หรือ บ้านเรือนที่ต้องการใช้กับผู้ป่วยที่มีโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ

แสดงความคิดเห็น