วันที่ 16 ธันวาคม 64 ที่คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัยกัญชง และพืชสมุนไพร ระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวร และภาคเอกชนทั้ง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เฟิร์สลี่เทค จำกัด บริษัท ดีซีพี เวิลด์ จำกัด และ บริษัท ซีดีเอฟ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารสุขภาพ และเครื่องสำอางค์ ที่มีส่วนประกอบและสารออกฤทธิ์สำคัญที่ได้จากกัญชง ซึ่งภายหลังกระบวนการผลิต จะทำให้ได้เศษเหลือจากต้นกัญชงเป็นจำนวนมาก บริษัทจึงเล็งเห็นว่า เศษเหลือของต้นกัญชงส่วนต่างๆ เช่น กากเมล็ด ลำต้น ราก ช่อดอก และใบ มีศักยภาพสูงที่จะนำไปต่อยอดเป็นงานวิจัยเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพสัตว์ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับกัญชงพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้
โดยนักวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำการศึกษาและพัฒนางานวิจัยเพื่อหาแนวทางในการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของต้นกัญชงเป็นสารเสริมสุขภาพสัตว์ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมี รองศาตราจารย์ ดร. ทศพร อินเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และรองศาตราจารย์ ดร. วันดี ทาตระกูล นักวิจัยประจำคณะฯ ซึ่งเป็นนักวิจัยกลุ่มแนวหน้าและนำร่องงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากกัญชงสำหรับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชนหลายภาคส่วน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า จากการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ต้องการตอบโจทย์รัฐบาลว่าสถาบันอุดมศึกษา จำเป็น ต้องร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคประชาชน ในการทำให้ผลผลิตโดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร มีความเจริญเติบโตก้าวหน้ายั่งยืน สู้ระดับสากลให้ได้ คือเหตุผลความร่วมมือในครั้งนี้ และอีกเหตุผลหนึ่งคือ ทำความร่วมมือที่เป็นความยั่งยืน คือการทำกิจกรรมร่วมกัน มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นฝ่ายทำการวิจัย สร้างคุณภาพ ตรวจสอบคุณภาพ บริษัทมีหน้าที่ต้องทำให้ผลิตภัณฑ์สู่ในระดับสากลให้ได้ การลงนามความร่วมมือต้องทำให้เกิดขึ้นและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้ง 3 บริษัทที่ลงนาม บริษัทมีผลิตภัณฑ์ของเค้า ประเด็นสำคัญ 1.มีการตรวจสอบคุณภาพ ไหมมีประสิทธิภาพประสิทธิผลในระดับสากลหรือเปล่า ทางมหาวิทยาลัยทำตรงนี้ให้ 2. สินค้าทำอย่างไรจะเป็นที่รู้จักในระดับสากล มหาวิทยาลัยต้องทำหน้าที่เป็นผู้ประสาน ให้สร้างผลิตภัณฑ์สินค้ามีคุณภาพมาตรฐานสากล สู่ระดับตลาดโลกได้ อยากจะให้ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นทำผลผลิตทางการเกษตร พืชพันธุ์ธันยาหาร สัตว์เศรษฐกิจ สัตว์เลี้ยง มาจากภาคเหนือตอนล่าง
นายจักรพันธ์ สาตุ้ม กรรมการบริหารบริษัท ซีดีเอฟ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า จากการทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ปัจจุบันงานวิจัยสำเร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว มีการวิจัยกัญชงเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์สารเสริมสุขภาพสัตว์สู่เชิงพาณิชย์ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่พร้อมผลิตและจัดจำหน่าย จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย 1) “Micronized Hemp Fiber” เป็นสารเสริมประสิทธิภาพการเจริญเติบโต ลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ลดความเครียด กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และส่งเสริมสุขภาพของระบบทางเดินอาหารสำหรับสัตว์ปีก 2) “HSCK -Fiber Booster” ผลิตภัณฑ์สารเสริมจากกากเมล็ดกัญชง มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการเจริญเติบโต ลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ลดความเครียด และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในสุกรหย่านม-ระยะรุ่น และ 3) “Modified Hemp Root fiber” เป็นผลิตภัณฑ์ฟังก์นัลไฟเบอร์จากรากกัญชง ช่วยกระตุ้นการกินอาหาร การเจริญเติบโต และสามารถลดการเกิดความเครียดของสุกรระยะขุนช่วงท้ายได้ ทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ ได้รับการคิดค้น และทดสอบในสัตว์ทดลองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการวางแผนการผลิตและการวิจัยตลาด (Market research) ก่อนที่จะนำออกวางจำหน่ายจริง ในปี 2565 นี้
และ เพื่อพัฒนาและต่อยอดผลงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ และคิดค้นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ๆ ที่ผลิตจากพืชกัญชงและพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ และผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ในครั้งนี้ เป็นการหาแนวทางในการร่วมมือกับทั้ง 3 บริษัทในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นผลผลิตที่ได้จากงานวิจัยสู่ออกตลาดเชิงพาณิชย์ และเตรียมนำสินค้าวางตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศในปี 2565 นี้
///////