‘กรมเจรจาฯ’ ปลื้ม ใช้ FTA ดันกล้วยแปรรูป-ละมุดออร์แกนิค ส่งออกไปจีนและอาเซียนสำเร็จ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังลงพื้นที่ติดตามความสำเร็จโครงการ “ติดอาวุธเกษตรกรไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วยความตกลงการค้าเสรี (FTA)” ที่จังหวัดสุโขทัย ว่า ได้พบหารือกับเกษตรกรและผู้ประกอบการบริษัท พิมพร บานาน่า อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด สมาชิกสหกรณ์กล้วยแปรรูปตำบลหนองตูม จำกัด ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA เจาะตลาดต่างประเทศ การพัฒนาช่องทางการตลาด การสร้างแบรนด์ และการพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยปัจจุบันประสบความสำเร็จสามารถขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น

นางอรมน เสริมว่า บริษัทพิมพรฯ เป็นผู้ผลิตกล้วยแปรรูปภายใต้แบรนด์ Chip & Chill โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ มีกำลังการผลิต 3,000 กิโลกรัมต่อวัน บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการยกระดับการผลิตสินค้า และได้ใช้ประโยชน์จาก FTA สร้างแต้มต่อขยายตลาดส่งออกไปจีน เนื่องจากจีนไม่เก็บภาษีศุลกากรกับกล้วยแปรรูปที่ส่งออกจากไทยภายใต้ FTA อาเซียน-จีน ปัจจุบันได้เปิดร้านไทยพาวิลเลี่ยน จำกัด จำหน่ายสินค้าในสนามบินต้าชิง กรุงปักกิ่ง และผ่านช่องทางออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “เถาเป่า” และ “พินตัวตัว” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ขนาดใหญ่ของจีน ทำให้มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีรายได้กว่า 1.64 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ร่วมแสดงความยินดีกับนายวัลลภ เกตุบำรุง ผู้ปลูกละมุดออร์แกนิค บ้านสวนอบอุ่น อ.สวรรคโลก ในโอกาสได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ร่วมกับกรมฯ ในสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากเมื่อปี 2562 ที่กรมฯ ได้ลงพื้นที่พบเกษตรกรและให้คำแนะนำเรื่องแนวโน้มตลาดสินค้าเกษตรออร์แกนิค กฎระเบียบของประเทศคู่ค้า และการใช้ประโยชน์จาก FTA บุกตลาดต่างประเทศ

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ละมุดสุโขทัยมีจุดเด่นที่รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม ผลสีแดงและเนื้อกรอบ จึงได้สนับสนุนให้เพิ่มช่องทางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าในงาน FTA Fair ซึ่งกรมฯ จัดขึ้นที่ศูนย์การค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ เป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างโอกาสการจับคู่ธุรกิจให้กับผู้ส่งออก และถือเป็นหนึ่งช่องทางให้ละมุดจากบ้านสวนอบอุ่นขยายส่งออกไปต่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งตลาดสิงคโปร์และฝรั่งเศส รวมทั้งร้านค้าในประเทศ เช่น TOPs Supermarket The Mall และตลาดจริงใจ Farmers Market เชียงใหม่ เป็นต้น ส่งผลให้มีตลาดรองรับที่แน่นอนและสามารถจำหน่ายผลผลิตในราคาสูงขึ้น จากกิโลกรัมละ 3 บาท เป็น 100 บาท

ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลไม้ อันดับที่ 7 ของโลก โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนยอดนิยม ได้แก่ ทุเรียนสด มังคุดสด และลำไยสด จนทำให้ไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกอันดับที่ 1 ของโลก โดยในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2564) ไทยส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและผลไม้แห้ง ไปทั่วโลกมูลค่า 5,165 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 4,998 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (สัดส่วน 97% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด) ประเทศที่การส่งออกผลไม้ไทยขยายตัว เช่น จีน ส่งออก 4,342 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 81%) มาเลเซีย ส่งออก 72 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 129%) อินโดนีเซีย ส่งออก 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 106%) เกาหลีใต้ ส่งออก 36 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 41%) และญี่ปุ่น ส่งออก 22 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 9%) เป็นต้น ส่วนผลไม้ส่งออกสำคัญและขยายตัวได้ดี อาทิ ทุเรียนสด ขยายตัว 67% มังคุดสด ขยายตัว 15% ลำไยสด ขยายตัว 54% และมะม่วงสด ขยายตัว 53%

ทั้งนี้ ภายใต้ FTA ของไทยที่มีผลใช้บังคับแล้ว 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ปัจจุบัน 12 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไนฯ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และฮ่องกง ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้สดผลไม้แช่แข็งและผลไม้แห้งทุกรายการจากไทยแล้ว สำหรับอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้ส่วนใหญ่ให้ไทยเช่นกัน นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2565 ไทยได้ผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าผลไม้สดและผลไม้แปรรูปเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น เกาหลีใต้ ลดภาษีนำเข้าทุเรียน ซึ่งปัจจุบันเก็บภาษีที่อัตรา 36% โดยจะทยอยลดลงปีละ 4.5% จนเหลือศูนย์ในปีที่ 10 หลังจากที่ความตกลงใช้บังคับ (ปี 2574) และจะทยอยลดภาษีนำเข้า มังคุด ฝรั่ง มะละกอ อินทผาลัม และเปลือกส้ม ซึ่งปัจจุบันเสียภาษีที่อัตรา 24% จนเหลือศูนย์ในปีที่ 10 หลังจากที่ความตกลงบังคับใช้ (ปี 2574) รวมถึงผลไม้อื่นๆ อาทิ ทุเรียนอบแห้ง ลิ้นจี่อบแห้ง และมะละกออบแห้ง จากที่ปัจจุบันเสียภาษีอัตรา 36% จนเหลือศูนย์ในปีที่ 15 หลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ (ปี 2579)

สำหรับกล้วยแปรรูป ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2564) ไทยส่งออกสู่ตลาดโลกมูลค่า 4.26 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 0.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย จีน แคนาดา และญี่ปุ่น เป็นต้น ปัจจุบัน 16 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้ากล้วยแปรรูปจากไทยแล้ว เหลือเพียงอินเดียที่เก็บภาษีกล้วยแปรรูปที่อัตราร้อยละ 30 และเกาหลีใต้ที่เก็บภาษีในอัตรา 36% สำหรับภายใต้ความตกลง RCEP เกาหลีใต้ลดภาษีนำเข้ากล้วยแปรรูปเพิ่มเติมให้ไทย โดยกล้วยที่ทำไว้ไม่ให้เสียโดยน้ำตาลจะทยอยลดลงจนเป็นศูนย์ในปีที่ 15 หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ ส่วนกล้วยบรรจุในภาชนะที่อากาศเข้าออกไม่ได้ จะทยอยลดลงจนเป็นศูนย์ในปีที่ 20 หลังความตกลงมีผลบังคับใช้

//////////////

 

แสดงความคิดเห็น