วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม ท210 อาคารทีปวิญช์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) สถาบันวิจัยและพัฒนา จัดพิธีลงนามในสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีการอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อการผลิตและจำหน่าย (Licensing) ผลงาน อุปกรณ์กระจายสารไล่แมลง และผลงานกระถางต้นไม้ที่มีส่วนผสมของใบยาสูบ ให้กับบริษัทฟาร์มสุข อะกรีคัลเจอร์ จำกัด และบริษัท พี ซี โอ.เอ.เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งทั้ง 2 ผลงาน เป็นผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.จักรกฤช ศรีละออ และคณะ
ผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้ให้สัมภาษณ์ว่าสำหรับผลงานวิจัย 2 ชิ้น ที่ได้รับการสนใจจากบริษัทเอกชน ซื้อสิทธิ เพื่อนำไปต่อยอดการผลิตและจำหน่าย คือกระถางต้นไม้ที่มีส่วนผสมของใบยาสูบ เลขที่อนุสิทธิบัตร 13977 ของคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร กระถางต้นไม้ตามการประดิษฐ์นี้ทำมาจากใบยาสูบ ซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการบ่มใบยาสูบที่มีปริมาณมาก มีธาตุอาหารพืชในปริมาณสูง และมีนิโคตินเป็นองค์ประกอบ สามารถป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ จึงสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระถางต้นไม้ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันแมลงศัตรูพืช และปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับพืชปลูกเพื่อป้องกันการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืช จำพวกเพลี้ย หนอนกระทู้ หนอนชอนใน และด้วงหมัดผัก สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับพืชปลูกได้ สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และสามารถปลูกลงดินโดยไม่ต้องย้ายกระถางทำให้ปลอดภัยต่อระบบรากพืช
และอีกชิ้นงานคือ อุปกรณ์กระจายสารไล่แมลง ทรัพย์สินทางปัญญาเลขที่ 1901000422 ของคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร เป็นอุปกรณ์กระจายสารไล่แมลงเมื่อใช้คู่กับองค์ประกอบของสารป้องกันแมลงศัตรูพืชมีคุณสมบัติทำให้เกิดการระเหยของสารสกัดเป็นการป้องกันแมลงศัตรูพืชโดยไม่ใช้ไฟฟ้าและแบตเตอรี่สามารถป้องกันแมลงศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยด้วงหมัดผัก รวมทั้งหนอนใยผัก และหนอนกระทู้ผัก ทั้งในอากาศ และใต้ดิน อายุการใช้งานประมาณ 1 ปี เพื่อช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชจำพวกเพลี้ย ด้วงหมัดผัก รวมทั้งหนอนใยผัก และหนอนกระทู้ผัก มีความปลอดภัยไม่มีสารตกค้างในผลผลิตและไม่มีสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม สามารถใช้งานได้ทั้งแปลงเกษตรปลอดภัยและแปลงเกษตรอินทรีย์ โดยผลงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นที่ภาคเอกชน ได้ซื้อไปนั้น ก็จะนำไปต่อยอดผลงาน เพื่อประโยชน์ต่อชุมชนให้มากที่สุด
สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่นที่ ที่ส่งเสริมยกระดับอาชีพ ของคนในท้องถิ่นมากขึ้น นวัตกรรมต่างๆของมหาวิทยาลัย นั้น ก็เน้นในเรื่องของท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีหลายภาคส่วนที่เน้นนวัตกรรมระดับประเทศมากกว่า แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้มุ่งเน้นภูมิปัญญาท้องถิ่น และชาวบ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด
รศ.ดร.ธันวดี ศรีธาวิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ได้ให้สัมภาษณ์ว่า หน่วยงานของเราได้มีการดำเนินการเรื่องการวิจัย และการต่อยอดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผลงานของนักวิจัยได้มีการจดทรัพย์สินทางปัญญาประมาณ 200 กว่าชิ้น ทั้งในรูปแบบของลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ งานออกแบบต่างๆ ในวันนี้นับเป็น 2 ชิ้นแรก ที่ได้รับการต่อยอดเป็นเชิงพาณิชย์ มีผู้ประกอบการสนใจมาซื้อไปถ่ายทอดเทคโนโลยี สามารถไปผลิตจำหน่ายโปรโมทได้เลยในระยะเวลา 5 ปี
หากผู้ประกอบการสนใจสามารถติดต่อดูรายละเอียด และสามารถมาถ่ายทอดเทคโนโลยี เอาไปต่อยอดจำหน่ายได้ หากภาคเอกชนหรือประชาชนทั่วไปมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เรามีตัวแทนการจดเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ หรือนักวิจัยในระดับประชาชน ที่อยากจะคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินของตนเอง ก็สามารถมาขอคำปรึกษาได้ที่สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม
/////////////////////////