กรรมาธิการฯ ด้านการลงทุนและเศรษฐกิจฐานราก  แลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เหนือล่าง1

วันนี้( 21 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมนานาชาติ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร นางสุวรรณี สีรีเวชชะพันธ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการการลงทุนและเศรษฐกิจฐานราก พร้อมคณะ ได้เดินทางมาศึกษาดูงานด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมของคณะกรรมธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา พร้อมกับแลกเปลี่ยนข้อมูล หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร

นางสุวรรณี สีรีเวชชะพันธ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการการลงทุนและเศรษฐกิจฐานราก เปิดเผยว่า  อนุกรรมาธิการการลงทุนและเศรษฐกิจฐานรากของวุฒิสภา มาลงพื้นที่ที่พิษณุโลกก็เพราะว่า เนื่องจากว่าตนเองดูแล และเป็นประธานอนุกรรมการเศรษฐกิจฐานรากแล้วก็คิดว่าเศรษฐกิจฐานราก หรือเศรษฐกิจชุมชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของ covid  ซึ่งประเทศไทยเคยมีรายได้จากการท่องเที่ยว และที่ผ่านมาการท่องเที่ยวได้ขาดหายไป จะทำอย่างไรเศรษฐกิจจะกลับมาหมุนเวียนด้านเศรษฐกิจชุมชนได้ และกลับมาให้ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนในพื้นที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน การลงพื้นที่ในวันนี้ เนื่องจากมหาลัยนเรศวร ให้ความช่วยเหลือจากกลุ่มชุมชนในพื้นที่ มีทุนให้กับชุมชน เราก็ต้องการมาศึกษาดูงาน แล้วก็ส่วนหนึ่งได้ทำรายงานการศึกษาวิจัยเรื่องปัจจัยสู่ความสำเร็จของเศรษฐกิจฐานราก อยากมาเรียนรู้สิ่งที่ดีๆ พร้อมกับจะนำไปทำรายงานเป็นข้อเสนอไปสู่รัฐบาล เพื่อให้จังหวัดอื่นดำเนินการตามอีกด้วย โดยในการศึกษาดูงานนั้น จะได้ลงดูชุมชนบ้านวังส้มซ่า ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการจัดการชุมชนแบบยั่งยืนอีกครั้ง

ด้าน รศ.ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร และหัวหน้าหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม  เปิดเผยว่า หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้นำนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาสังคมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และ อุตรดิตถ์ ด้วยการบ่มเพาะพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนด้วยการใช้ประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมผลักดันให้เกิดผลงานนวัตกรรม ที่เป็นต้นแบบเข้าไปยกระดับรายได้ของชุมชนและสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยให้ทุนผลงานนวัตกรรมไม่เกินทุนละ 300,000 บาท จำนวน10-14 ทุน/ปี  ในแต่ละปีก็จะมีผลงานด้านนวัตกรรมที่เป็นต้นแบบ ที่สามารถผ่านเกณฑ์ในการตัดสินของคณะกรรมการได้เป็นจำนวนมาก

/////////////

 

แสดงความคิดเห็น