เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 10 ก.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ วัดมะขามเตี้ย ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ทพ.สันติ ศิริวัฒนไพศาล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 2 พิษณุโลก พร้อมคณะ ได้เดินทางมาเคารพศพ นางสุนันทา คุ้มฉาย อายุ 59 ปี ครูผู้ช่วยศูนย์เด็กเล็ก อบต.หัวรอ ที่เสียชีวิตหลังจากเข้ารับการฉีดวัคซีนสูตรไขว้เข็มที่ 1 ซิโนแวค และ เข็มที่ 2 แอสตร้าเซเนก้า แล้วเกิดอาการน๊อคเสียชีวิต แพทย์ระบุเส้นเลือดในสมองโปร่งพองและแตก โดยมาสอบถามข้อเท็จจริง พร้อมนำเอกสารคำร้องมาให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยมี นายศุภวิชญ์ ขำแจ่ม อายุ 27 ปี ลูกชายให้การต้องรับพร้อมให้ข้อมูลอาการก่อนเสียชีวิตกับทาง ผอ.สปสช.เขต 2 พิษณุโลก
นายศุภวิชญ์ ขำแจ่ม บุตรชาย ให้การกับเจ้าหน้าที่ว่า คุณแม่เป็นคนที่ดูแลสุขภาพดีมาก ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี ไม่เคยพบว่ามีโรคประจำตัว ร่างกายแข็งแรง และเตรียมจะเกษียณตัวเองในเดือนเมษายน 2565 สาเหตุการเสียชีวิตมั่นใจว่าเกิดจากการฉีดวัคซีน เนื่องจากแม่ฉีดวัคซีนแบบสูตรไขว้ เข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค ไปเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564 และเข้ารับวัคซีน เข็มที่ 2 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 หลังรับวัคซีนเข็มสอง แม่ก็เริ่มมีไข้ ปวดหัว เมื่อยเนื้อตัว ก็คิดว่าเป็นผลข้างเคียงของวัคซีนทั่วไป จึงทานยาพารา แม่ก็มีอาการแบบนี้เรื่อยมาประมาณ 6-7 วัน จนกระทั่งช่วงเย็นแม่บ่นมาบอกว่าปวดหัวอย่างมาก แล้ว จู่ๆ แม่ก็น๊อคหมดสติไปเลย ตนจึงรีบโทร 1669 เรียกรถพยาบาลมารับรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ปรากฏว่ามีคนไข้เยอะจึงตัดสินใจขอย้ายคุณแม่ไปรักษาโรงพยาบาลเอกชนทันที เพียง 1 ชม. แพทย์ก็แจ้งว่าแม่มีอาการเส้นเลือดใหญ่ในสมองแตก แล้วมีเลือดคั่งเป็นจำนวนมาก โอกาสรอดมีเพียง 1% ไม่แนะนำให้เสี่ยงผ่าตัดเพราะแม่อาจจะเสียชีวิตขณะผ่าได้ แต่อยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ เพราะสมองตายหมดแล้ว จนแม่เสียชีวิตลงช่วงคืนวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา
ทพ.สันติ ศิริวัฒนไพศาล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 2 พิษณุโลก กล่าวว่า ตนได้รับการฉีดวัคซีนและมีอาการปวดไหล่ ยกแขนไม่ขึ้นเป็นผลข้างเคียงเช่นกัน ต้องเข้าในสถานการณ์ว่าทั่วโลกมีคนป่วยด้วยโควิด 19 จำนวนมากและมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้มากเช่นกัน การฉีดวัคซีนถูกการันตีว่าปลอดภัย ฉีดวัคซีนล็อตเดียวกันบางคนไม่เป็นอะไรเลย ร่างกายรับแล้วสร้างภูมิได้ดี แต่ก็มีจำนวนน้อยมากที่ฉีดแล้วมีผลข้างเคียง ต้องชั่งน้ำหนักว่าอันไหนเสียมากกว่ากันระหว่างได้ฉีดวัคซีนกับไม่ฉีด ก็ต้องมาดูว่าเมื่อไม่มีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิตเป็นจากสาเหตุใด
ส่วนแนวทางการช่วยเหลือ แบ่งเป็น 3 ประเภท ถ้าฉีดแล้วเจ็บปวด ป่วย 1-2 วันไม่มีการช่วยเหลือ แต่หากเจ็บป่วย ส่งผลให้ต้องเข้ารับการรักษาเจ็บป่วยเรื้อรัง พิการ และทำให้เสียชีวิตจะได้รับการพิจารณาช่วยเหลือ ตั้งแต่ 1บาท จนถึงสูงสุด 4 แสนบาท อย่างกรณีความพิการ ต้องมาพิจารณา ส่วนการชดเชย มีตั้งแต่ 1 บาท สูงสุดถึง 2.4 แสนบาท ขณะที่การเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 1 บาท สูงสุดถึง 4 แสนบาท สำหรับการช่วยเหลือผู้เสียหายต้องระบุชื่อว่าใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ ขอเวชระเบียนประวัติการรักษาก่อน พิการ หรือ เสียชีวิต ส่งให้ทาง สปสช. พร้อมคำร้อง ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน สามารถขอใบคำร้องได้ที่ จุดบริการฉีดวัคซีน สำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เขต 2 พิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุข หลังจากได้รับคำร้อง พร้อมเอกสาร ทางสปสช.จะนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการตัดสินได้ไม่เกิน 5 วัน และเงินจะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารครอบครัวผู้เสียหาย สำหรับกรณีนี้พิจารณาดูแล้วน่าจะเป็นผลข้างเคียงจากวัคซีน เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่น่าเกิดขึ้น น่าจะได้รับการช่วยเหลือในระดับสูงสุด
อยากฝากชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าว่าการเสียชีวิตเป็นเหตุสุดวิสัย คุณหมอไม่ต้องการฉีดวัคซีนเพื่อให้ใครเสียชีวิต ถ้าไม่ฉีดแล้วเป็นโควิดทรมานมาก ต้องนอนคว่ำ พลิกซ้าย ขวา ทุก 2 ชั่วโมง ใส่เครื่องช่วยหายใจ บางรายหายบางรายเสียชีวิต ซึ่งถ้าได้รับการฉีดวัคซีนเราจะปลอดภัย 100 % จากการป่วยโรคโควิด 19 ลดความรุนแรงของโรคไม่อันตรายถึงชีวิต แม้ไม่มีใครการันตีแต่การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตัวเองดีกว่าอย่างน้อยก็มีภูมิคุ้มกันโรค
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนสามารถติดต่อสอบถาม ที่หมายเลข 1330 หรือสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เขต 2 พิษณุโลก อาคารประปา สำนักงานเทศบาลนครพิษณุโลกหลังเก่า ฝั่งตรงข้าม สภ.เมืองพิษณุโลก
สำหรับงานสวดพระอภิธรรมศพ นางสุนันทา คุ้มฉาย จะมีคืนนี้เป็นวันสุดท้าย และจะประกอบพิธีฌาปนกิจศพ ในวันเสาร์ที่ 11 กันยายน 2564 นี้