รมว.พม.ดึง 9 หน่วยงานร่วมมือขับเคลื่อนพืชสมุนไพรช่วยกลุ่มเปราะบางและเครือข่าวยเกษตรกร

วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ศาลาประชาคมจังหวัดพิษณุโลก ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การขับเคลื่อน “พืชทางเลือก” สมุนไพรเศรษฐกิจฐานราก ระหว่าง สภาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก กับ 8 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดพิษณุโลก นิคมสร้างตนเองบางระกำ นิคมสร้างตนเองทุ่งสาน จังหวัดพิษณุโลก และเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร จังหวัดพิษณุโลก เพื่อลงนามความร่วมมือในการแสดงพลังสำหรับการขับเคลื่อนพืชทางเลือกสมุนไพร เศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง และเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่

นายจุติฯ กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายในการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงโดยใช้พื้นที่เกษตรให้เกิดผลิตภาพใหม่ ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจBCG พ.ศ. 2564-2569 โดยยกระดับภาคการเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรอัจฉริยะ (สมาร์ทฟาร์มมิ่ง)  และเกษตรปลอดภัย (GAP) เพื่อเป็นทางรอดให้กับประเทศไทย รวมทั้งการขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่ โดยอาศัยคุณค่าของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ที่มีอยู่เฉพาะในแต่ละภูมิภาคของประเทศ มาผนวกกับการบริหารจัดการสมัยใหม่ ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและเปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองพึ่งพากันเอง และรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลังที่เข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายจุติฯ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ถือเป็นความน่ายินดีที่สภาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยสถาบันการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ เข้ามาให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ นวัตกรรมที่เหมาะสม ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชทางเลือกสมุนไพรเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจน กอ.รมน. จังหวัดพิษณุโลก ที่เข้ามาสนับสนุนกำลังพล และส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์พืช พันธุ์พืชสมุนไพรที่หายาก ไปสู่ระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืน  ด้วยนวัตกรรมที่เหมาะสม ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวว่าเป็นการประสานความร่วมมือเชิงบูรณาการในระดับพื้นที่เพื่อการสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบางและเครือข่ายเกษตรกรอย่างทันต่อสถานการณ์และสามารถพัฒนาต่อได้อย่างยั่งยืนต่อไป

กระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนงานดังกล่าวโดยจะขออนุญาตให้ใช้ที่ดินในพื้นที่แปลงที่สงวนเอาใช้ในงานราชการของแต่ละนิคมสร้างตนเองตามความเหมาะสมและศักยภาพในการ บริหารจัดการให้เข้ามาทำเป็นแปลงทดลองสร้างงานสร้างอาชีพการปลูกและการแปรรูปพืชสมุนไพร สำหรับจังหวัดพิษณุโลกมีนิคมสร้างตนเองอยู่จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1) นิคมสร้างตนเองบางระกำ   2) นิคมสร้างตนเองทุ่งสาน ซึ่งจะเป็นการบูรณาการการพัฒนางานการใช้พื้นที่ของนิคมสร้างตนเอง  ร่วมกับส่วนราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเข้ามาสนับสนุน เสริมสร้างความเข้มแข็ง  ของเศรษฐกิจฐานราก โดยการทดลองใช้พื้นที่แปลงสงวนมาทำการเกษตรเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ  และเพิ่มทางเลือกในการสร้างรายได้หลักและรายได้เสริมให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางของจังหวัดพิษณุโลก  ในรูปแบบจังหวัดนำร่อง “พิษณุโลกโมเดล” ก่อนจะพิจารณาขยายการบริหารจัดการไปดำเนินการในพื้นที่  ของนิคมสร้างตนเองในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศซึ่งมีกระจายอยู่ในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศรวม 43 แห่ง   และคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถช่วยสนับสนุนกิจกรรมการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพี่น้อง  ประชาชนได้เป็นอย่างดี

แสดงความคิดเห็น