วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ที่โรงแรมเรือนแพ รอยัลปาร์ค อ.เมือง จ.พิษณุโลก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็น ร่างยุทธศาสตร์การใช้งานไมซ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค ภายใต้โครงการแนวทางการใช้งานไมซ์ (MICE )ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค กรณีนำร่องภาคเหนือตอนล่าง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เร้น หลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ขึ้นในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจ MICE (การจัดประชุมองค์กร : Meeting การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล : Incentives การจัดประชุมวิชาชีพ : Conventions และการจัดแสดงสินค้า : Exhibitions) ต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ดังนั้นการฟื้นฟูและส่งเสริมธุรกิจ MICE ในยุค New Normal ผู้ประกอบการต้องปรับตัวในการทำธุรกิจครั้งใหญ่ และนับเป็นวิกฤตที่อุตสาหกรรมไมซ์จะได้สร้างมาตรฐานใหม่เพื่อเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพโดยมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ดำเนินโครงการแนวทางการใช้งานไมซ์ (MICE) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค : กรณีนำร่องภาคเหนือตอนล่าง เพื่อการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม MICE จังหวัดพิษณุโลก และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างกลุ่ม 1 และ 2
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะหัวหน้าโครงการ ฯ กล่าวว่า แนวทางการใช้งานไมซ์ (MICE) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค : กรณีนำร่องภาคเหนือตอนล่าง ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และขับเคลื่อนกิจกรรมจากผู้ประกอบการธุรกิจ MICE จากสมาคมเครือข่ายไมซ์ภาคเหนือตอนล่างพร้อมทั้งการผสานความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน : TCEB) และองค์ความรู้จากนักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวรและทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคีภาครัฐ เครือข่ายภาคเอกชนและภาคประชาชน ที่ระดมสรรพกำลังในการยกร่างแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรรม MICE จังหวัดพิษณุโลก ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2565 – 2570) เพื่อการใช้ MICE ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม MICE ของจังหวัดรวมถึงกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างกลุ่ม 1 และ 2 เน้นต่อยอดและสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation) และ ความเป็นอยู่ที่ดี (Wellness) ด้วยศักยภาพของพื้นที่ในการเป็นแหล่งเรียนรู้และทรัพยากรด้านอาหาร สมุนไพร สุขภาพ และการสร้างเสริมสุขภาวะที่สมบูรณ์ให้กับประชาชนในภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดพิษณุโลกและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง โดยเน้นการสร้างศูนย์กลางการดูแลสุขภาพมูลค่าสูง และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (BioEconomy)
แนวทางการใช้งานไมซ์ (MICE) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค : กรณีนำร่องภาคเหนือตอนล่าง เพื่อเน้นการใช้งานไมซ์ (MICE) เป็นกลจักรหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ระหว่างการดำเนินงานจะมีการถอดบทเรียนรูปแบบงาน MICE เพื่อนำไปประยุกต์ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป โดยการดำเนินงานได้มีการจัดกิจกรรมนำร่อง 4 ครั้ง ซึ่งได้จัดงานทั้งระบบ online และ onsite ไปแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่1.การจัดสัมมนาพิเศษ “Fostering an Innovative Mindset for Exponential Growth นวัตกรรมอาหารและความเป็นอยู่ที่ดี” โดยเป็นการจัดประชุมเพื่อเป็นต้นแบบในการใช้อุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ในจังหวัดและในภูมิภาค เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2564 เวลา 8.30-16.00 น. ณ โรงแรมอิมพีเรียลโฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น พิษณุโลก 2.การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการมุ่งเป้าด้านธุรกิจนวัตกรรมสมุนไพร ในหัวข้อ “Thai Herb Go Global ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ก้าวต่อไปสู่ตลาดโลก” จาก ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม 2564 เวลา 08.30 – 16.00 น. ณ ห้องอยุธยาและห้องนครสวรรค์ โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก 3.การจัดกิจกรรม Incentives “Health & Wellness Route เส้นทางสายสุขภาพเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี” ตะลุยสวนสมุนไพร เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม 2564 ณ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก และเยี่ยมชมวิถีชุมชนบ้านวังส้มซ่า ม.1 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรธร กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมสุดท้ายจะเป็นการจัดงานใหญ่ที่ระดมสรรพกำลังของผู้ประกอบการจากสมาคมเครือข่ายไมซ์ภาคเหนือตอนล่าง คือ Food Innovation & Wellness Expo 2021 งานแสดงนวัตกรรมอาหารเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี วันที่ 30 – 31 กรกฎาคม และวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา พิษณุโลก โดยมีแนวคิดรวมพลังสร้างสุขชีวิตวิถีใหม่ เพื่อสร้างความตระหนักและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ข้อมูลและทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรม MICE รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการเจรจาธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค พร้อมด้วยความรู้และความบันเทิง อาทิ การดูแลสุขภาพและการนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ในวงการสุขภาพ หน้าที่และมาตรฐานของ Food & Health Service Provider การปรับตัวในชีวิตวิถีใหม่ และกิจกรรมส่งเสริมการขายมากมาย
/////////////