นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก แถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลนครพิษณุโลกก่อนการเข้ารับหน้าที่

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ห้องประชุมาสภาเทศบาลนครพิษณุโลก นางเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาลนครพิษณุโลกและหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุมสภาเทศบาลนครพิษณุโลก สมัยสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2564 เพื่อให้นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกได้แถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลนครพิษณุโลกก่อนการเข้ารับหน้าที่ รวมทั้งพิจารณาในเรื่องต่างๆ

นางเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก แถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลนครพิษณุโลกว่า “ตามที่ได้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งตามมาตรา 142 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 นั้นบัดนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ให้ดิฉันเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง เป็นนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564

ดังนั้น เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามนัยมาตรา 48 ทศ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่บัญญัติให้นายกเทศมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลก่อนเข้ารับหน้าที่ ดิฉันได้กำหนดนโยบายในการบริหารงานและเป้าหมายการพัฒนาเทศบาลนครพิษณุโลก สำหรับช่วงระยะเวลา 4 ปี นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาลภายใต้ระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยยึดหลักนโยบายของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2564) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) และยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดพิษณุโลก เป็นหลักในการกำหนดนโยบาย การบริหารและการพัฒนาที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชนในเขตเทศบาล รวมทั้งการแก้ไขปัญหาอันจำเป็นเร่งด่วนที่จักต้องดำเนินการ การดูแลซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นสาธารณประโยชน์ให้มีสภาพพร้อมใช้การได้ดี สร้างและพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย พัฒนาการให้บริการประชาชนตามแนวทางกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ และกฎหมายว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคู่ไปกับสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กร ให้เป็นมืออาชีพ มีความรู้และความสามารถที่หลากหลาย เพื่อการขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุเป้าหมายอันจะเกิดความผาสุกและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในเขตเทศบาล ความสงบและความปลอดภัยของสังคมและประชาชนส่วนรวม

เพื่อให้การบริหารงานของเทศบาลนครพิษณุโลกสามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้กล่าวข้างต้นและเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในเขตเทศบาล จึงได้กำหนดนโยบายในการบริหารไว้ ดังนี้
1. นโยบายเร่งด่วน
2. นโยบายด้านการปรับปรุงฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ปรับภูมิทัศน์เมืองให้สวยงาม
3. นโยบายด้านการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต
4. นโยบายด้านการพัฒนาการศึกษา ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬา
5. นโยบายด้านการพัฒนาระบบคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน
6. นโยบายด้านการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

โดยมีแนวทางในการพัฒนาตามนโยบาย ดังนี้
1. นโยบายเร่งด่วน
เพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนอันเป็นกรณีเร่งด่วน ดังนี้
1.1 การให้มีน้ำประปาที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ โดยการปรับปรุงระบบการผลิต ระบบการส่งน้ำ เช่น ปรับปรุงซ่อมแซมและเพิ่มขนาดท่อส่งน้ำตามตรอก ซอย เป็นลำดับแรก วางท่อส่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มปริมาณและแรงดันน้ำทดแทนท่อเดิมที่มีสภาพเก่าชำรุดเสียหาย เป็นต้น
1.2 การจัดการขยะและมูลฝอย โดยการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การจัดการขยะตกค้าง การจัดเก็บ รวมทั้งการจัดหาสถานที่และจัดการกำจัดขยะและมูลฝอย
1.3 การจัดให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่าง เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน โดยการดำเนินการเพิ่มแสงสว่างตามตรอก ซอยต่าง ๆ ในเขตเทศบาลให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
2. นโยบายด้านการปรับปรุงฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ปรับภูมิทัศน์เมืองให้สวยงาม
เพื่อพัฒนาพื้นที่ในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก ให้เป็นแหล่งอยู่อาศัยเป็นเมืองที่น่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่สะอาดปราศจากมลพิษต่างๆ โดยการเร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองการจัดสวนดอกไม้กลางเมือง ที่จอดรถใต้ดินบริเวณสวนกลางเมือง ปรับปรุงสภาพแวดล้อมคูเมือง ปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนนเรศวรวงเวียนหน้าสถานีรถไฟพิษณุโลก กำหนดและจัดทำถนนสายหลักของเมืองให้เป็นถนนสวยปลอดถังขยะ บำรุงรักษาสวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติทั้งสองฝั่งแม่น้ำน่าน สวนกลางเมืองและสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่สาธารณะที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ

ด้านการจัดการขยะและมูลฝอยในระยะยาวนอกจากที่กล่าวมาในนโยบายเร่งด่วนข้างต้นแล้ว จะดำเนินการโดยจัดให้มีการจัดการแบบครบวงจรตามรูปแบบมาตรฐานสากลและการจัดการน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. นโยบายด้านการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต
เพื่อยกระดับให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งทางด้านสวัสดิการสังคมด้านการสาธารณสุข และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ทันสมัยครบวงจรครบทั้ง 4 โซน สนับสนุนให้มีอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีสภาวะพึ่งพิงตามสัดส่วนของจำนวน ผู้ที่สมควรได้รับการช่วยเหลือ
ด้านคุณภาพชีวิต ส่งเสริมความรู้ด้านการดูแลสุขภาพอนามัย พัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขให้กับบุคลากร จัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย และสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในรูปแบบต่างๆดำเนินการตราเทศบัญญัติ การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัขและแมว รวมทั้งปรับปรุงสถานสงเคราะห์สัตว์ที่มีอยู่แล้วให้สามารถรองรับสุนัขได้อย่างเพียงพอ ถูกสุขลักษณะมากยิ่งขึ้น

ด้านปัญหายาเสพติดในชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามภารกิจหน้าที่ในหน่วยงาน ในสถานศึกษาและในชุมชนให้เป็นสีขาว

4. นโยบายด้านการพัฒนาการศึกษา ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬา
เพื่อให้สถานศึกษาในสังกัดเทศบาลนครพิษณุโลกทั้ง 5 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 2 แห่งเป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยกำหนดความเป็นเลิศไว้ 3 ด้าน ได้แก่ เป็นเลิศด้านวิชาการ เป็นเลิศด้านสุขภาพ เป็นเลิศด้านวัฒนธรรมและพัฒนาความทันสมัย 4 ทันสมัย ได้แก่ สื่อที่ทันสมัย คุณครูทันสมัย สร้างแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยและการบริหารงานภายในโรงเรียนทันสมัย นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังจะกำหนดการเรียนการสอนในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการเสริมสร้างมาตรการโรงเรียนปลอดภัย

ด้านศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม เพื่อดำรงไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม ด้วยการส่งเสริมอนุรักษ์สืบทอด วัฒนธรรมประเพณี ได้แก่ ประเพณีงานสงกรานต์ งานบุญเข้าพรรษา เทศน์มหาชาติ งานแข่งขันเรือยาว งานประเพณีลอยกระทง ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน กำหนดให้มีกิจกรรมถนนธรรมวิถีธรรม วิถีไทย และถนนสายวัฒนธรรม ส่งเสริมกิจกรรมของ ทุกศาสนา การจัดตั้งศูนย์พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะและวัฒนธรรมเมือง พิพิธภัณฑ์เมืองและหอศิลป์เมืองพิษณุโลกขึ้น
ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งศักยภาพของเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองประวัติศาสตร์ เป็นศูนย์ความเจริญในภูมิภาคของภาคเหนือตอนล่าง เป้าหมายส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นไมซ์ซิตี้ (MICE City)และจัดให้มีจุดตรวจสอบ (Check In) ห้องรับแขกของจังหวัดพิษณุโลก การปรับปรุงไนท์บาร์ซ่าเดิมให้เชื่อมโยงตลาดเทศบาล 1 และย่านไชน่าทาวน์ของเมือง ฟื้นฟูวิถีชาวแพเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ส่งเสริมให้มีอาหารริมทาง (Street Food) อนุรักษ์มรดกอาหารท้องถิ่น สร้างถนนสายวัฒนธรรมเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยววิถีชุมชน ส่งเสริมอาหารและสินค้าท้องถิ่น จัดทำตลาดสดน่าซื้อ ตลาดสดสร้างสรรค์ อบรมและพัฒนาอาชีพให้ชุมชนและส่งเสริมการค้าออนไลน์

ด้านกีฬา ส่งเสริมให้มีลานกีฬาสร้างสรรค์และผาดโผน (Creative Extreme Sports) สร้างเส้นทางวิ่งและเส้นทางจักรยานที่มีบรรยากาศสวยงาม กีฬาทางน้ำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ลานดนตรีและกิจกรรมในสวนหรือพื้นที่สร้างสรรค์ (Phitsanulok Creative Space) และลานกีฬาในชุมชน
5. นโยบายด้านพัฒนาระบบคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน

เพื่อพัฒนาและบำรุงรักษาเส้นทางคมนาคมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลกและรองรับรถไฟความเร็วสูงด้วยการปรับปรุงถนน ซอยสาธารณะให้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหรือแอสฟัลท์ติก พร้อมวางระบบระบายน้ำ ปรับปรุงทางเดินเท้า จัดให้มีอุปกรณ์ด้านการจราจร เครื่องหมายสัญลักษณ์ต่าง ๆ อย่างชัดเจนรวมถึงการจัดระเบียบทางเท้าให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม
6. นโยบายด้านการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้การบริหารกิจการของเทศบาลนครพิษณุโลกที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนา เพื่อให้เกิดความผาสุกและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในเขตเทศบาล ความสงบและความปลอดภัยของสังคมและประชาชนส่วนรวม ตลอดจนประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางที่จะได้รับการบริการจากหน่วยงานของรัฐ


ด้านการพัฒนาเมืองให้ก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ (SMART CITY) ด้วยการติดตั้งอินเตอร์เน็ตหรือเครือข่ายไร้สาย (WiFi) ในทุกชุมชน ตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ออนไลน์ One Stop Service One Application สร้างพิษณุโลกเป็นเมืองปลอดภัย (Safe City) ด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดในชุมชนเชื่อมโยงกับศูนย์รับแจ้งเหตุตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมงในชุมชนทุกชุมชน จัดให้มีสายตรวจเทศกิจตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านบริหารองค์กรตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ให้ทุกส่วนราชการในสังกัดปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส กระบวนการวางแผนพัฒนาที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน การจัดสรรงบประมาณคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชน จะได้รับอย่างคุ้มค่าและพัฒนางานบริการทุกด้านอย่างต่อเนื่อง จัดรูปแบบการบริหารภาครัฐแนวใหม่ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นเครื่องมือในทุกภารกิจ โดยเฉพาะงานที่ให้บริการกับประชาชน อาทิเช่น งานบริการด้านทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน งานบริการส่วนหน้า ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นต้น

ด้านการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน การดำเนินงานตามนโยบายต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ การสร้างความตระหนักให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย การสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ปรองดอง สมานฉันท์ ยอมรับความแตกต่างด้านความคิด สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขในสังคม และเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของเทศบาลมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ คุณลักษณะเฉพาะของแต่ละชุมชนให้คงอยู่ตลอดไป ในขณะเดียวกันการบูรณาการแผนงาน/โครงการความต้องการของชุมชนกับแผนพัฒนาท้องถิ่น การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ ต่อท้องถิ่นและประชาชนในชุมชน”
นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า “ดิฉันขอยืนยันต่อสภาเทศบาลนครพิษณุโลกว่าการกำหนดนโยบายดังกล่าววางอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและปฏิบัติได้จริงตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตามที่กฎหมายกำหนด ดิฉันมีความมั่นใจ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทศบาลนครพิษณุโลกให้เจริญก้าวหน้า บรรลุผลตามนโยบายและบังเกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สุขอย่างแท้จริงต่อประชาชนสืบไป”
////////////////////

แสดงความคิดเห็น