วันที่ 23 เมษายน 64 ที่โรงแรมเมย์ฟลาวเวอร์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายแพทย์รัฐภูมิ ชามพูนท รองนายกแพทย์สาธารณสุข จ.พิษณุโลก นพ.อารีย์ เจษฎาญานเมธา รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลพุทธชินราช แถลงสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดพิษณุโลก โดยสถานการณ์ล่าสุด จ.พิษณุโลก มียอดผู้ป่วยโควิด-19 ประจำวันที่ 22 เมษายน 2564 ยอดผู้ป่วยใหม่จำนวน 9 ราย ยอดสะสม 200 ราย มีผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤติ 10-15 คนที่มีปอดติดเชื้อรุนแรง ต้องใส่ออกซิเจนไหลเวียนสูง และมีจำนวน 5 ราย ต้องอยู่ในห้องความดันลบ ส่วนที่เหลืออาการไม่รุนแรง มีรักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 4 ราย
นายแพทย์รัฐภูมิ ชามพูนท รองนายกแพทย์สาธารณสุข จ.พิษณุโลก กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ จ.พิษณุโลก มีสันญาณเป็นระดับ 3 ที่คาดว่าจะมีการระบาดในช่วงสงกรานต์ ทำให้ จ.พิษณุโลกมีนโยบาย ลดการเคลื่อนย้าย พยายามให้คนกักตัวอยู่บ้านอย่าเดินทางข้ามจังหวัด หลังมีนโยบายปรากฏว่ายอดผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นมาเป็น ระดับ 4 ซึ่งตอนนี้เริ่มลดระดับลง แต่ต้องดูแนวโน้มในวันเสาร์ที่ 24 เมษายนนี้ จะเพิ่มสูงขึ้นจากการติดเชื้อช่วงสงกรานต์ตามคาดหมายหรือไม่ แต่ถ้าไม่เพิ่มขึ้นก็แสดงว่าเราสามารถควบคุมได้ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นของชาว จ.พิษณุโลก ที่ในหลวงพระราชทานรถชีวนิรภัยตรวจคัดกรองโควิด-19 มาตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรกว่า 1,000 คน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และในวันที่ 24 เม.ย.นี้จะมีการตรวจหาเชื้อนิสิตนักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัยและประชาชนในพื้นที่ ต.ท่าโพธิ์ อย่างละเอียดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การออกไทม์ไลน์อย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการติดตามผู้เสี่ยงสูงมาตรวจหาเชื้อและกักตัว ทำให้การควบคุมการระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งมาตรการทาง การแพทย์รองรับได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ยอดผู้ป่วยที่ จ.พิษณุโลก วันนี้ยอดอยู่ที่ 200 คน
นพ.อารีย์ เจษฎาญานเมธา รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลพุทธชินราช กล่าวว่า ขณะนี้ ทางจังหวัดพิษณุโลก เปิดใช้งานโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยได้ 250 ราย จำนวน 3 แห่ง คือ 1. รพ.สนาม รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก (สาขาบึงแก่งใหญ่) จำนวน 30 เตียง 2. รพ.สนาม รพ.วังทอง จำนวน 20 เตียง 3. รพ.สนามพิษณุโลก MFH (โรงแรมเมย์ฟลาวเวอร์) จำนวน 110 เตียง และเตรียมเปิด รพ.สนาม เพื่อรองรับผู้ป่วย 260-310 ราย อีก 3 แห่ง ดังนี้ 1. รพ.สนาม หอพักมหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 130 เตียง 2. รพ.สนาม พัน สร.23 บชร.3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จำนวน 100-150 เตียง 3. รพ.สนาม รพ.จิตเวช พิษณุโลก จำนวน 30 เตียง โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อได้อย่างเพียงพอ และปลอดภัย
นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวอีกว่า จังหวัดพิษณุโลก ได้รับการจัดสรรวัคซีน จำนวน 9,560 โด๊ส (4,780 คน) สำหรับ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 3,700 คน อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) จำนวน 500 คน ประชาชนกลุ่มเสี่ยง( 7 โรค) จำนวน 300 คน ตำรวจ ทหารด่านหน้า จำนวน 280 คน รอบแรกเมื่อวันที่ 7 – 8 เมษายน 2564 โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ได้ทำการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) ในจังหวัดพิษณุโลก ทั้งนี้จะดำเนินการฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ตำรวจ ทหารด่านหน้า และประชาชนกลุ่มเสี่ยงภายในวันที่ 21-23 เมษายนนี้ ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จะดำเนินการฉีดในช่วง 3-4 สัปดาห์หลังจากเข็มที่ 1 ด้วย 8 ขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานและมีความปลอดภัย
สำหรับประชาชน ทางผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก อยากให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกคน เพราะการลงทะเบียนในวันนี้ยังไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้เลยจะต้องรอรับการจัดสรร อีกทั้งต้องดูกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับการฉีดเป็นลำดับต้นก่อน ส่วนประชาชนทั่วไปก็จะได้รับการฉีดตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะเป็นการป้องกันการติดเชื้อ โควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค คือ การคัดกรองและเฝ้าระวังโรค การกักตัวผู้มีความเสี่ยง การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การงดจัดกิจกรรมที่รวมกลุ่มคนจำนวนมากรวมทั้งการรณรงค์ทำความสะอาดสถานที่และพื้นผิวสัมผัส เพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ
/////