วันที่ 9 เมษายน 2564 ที่ห้องประชุม AG1104 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร บริษัทวิสและบุตรจำกัด และบริษัทบีบี เบิร์ดเนสเทรดดิ้งจำกัด โดยการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ การวิจัยและพัฒนา การสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการพัฒนาสายพันธุ์กัญชงให้มีคุณภาพสูง เทคนิคการสกัด และการแปรรูปเพื่อการใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์ รวมทั้งพัฒนาต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยสามารถนำผลของความร่วมมือดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมของบริษัท และเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร
ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ความร่วมมือ นี้เป็นความร่วมมือทางด้านการพัฒนางานวิจัยวิชาการมุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยด้านกัญชง ทั้งทางด้านการพัฒนาฟิล์มพลาสติก โรงเรือน สำหรับการปลูกกัญชง การพัฒนาเทคนิคการสกัด และการแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆเพื่อตอบโจทย์สถานการณ์ของพืชเศรษฐกิจใหม่ ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้บริษัทวิสและบุตร จำกัด บริษัทบีบีเบิร์ดเนสเทรดดิ้งจำกัด และคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงได้มีแนวคิดที่จะร่วมมือทางวิชาการ ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนาในสหสาขาที่เกี่ยวข้อง ร่วมพัฒนากัญชงและผลิตที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของมหาวิทยาลัยนเรศวรและของบริษัทดังกล่าว
ขณะนี้ความร่วมมือ จะมีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ การพัฒนาสายพันธุ์กัญชง เพื่อให้ได้สารซีบีดี (CBD : Cannabidiol) ที่มีคุณภาพ และมีสารทีเอชซี (THC :Tetrahydrocannabinol) ตามกฎหมายกำหนด คือ ต้องไม่เกิน 1 % โดยพัฒนาสายพันธุ์จนได้สารทีเอชซีไม่เกิน 0.3-0.4 % ซึ่งสหประชาชาติ(UN) กำหนดให้การแยกระหว่างกัญชง กับ กัญชา ไว้ว่า หากมีสารทีเอชซีต่ำกว่า 0.2% ให้ถือว่าเป็นกัญชง สำหรับ “กัญชง” เรียกอีกอย่างว่า “เฮมพ์ (Hemp)” เป็นพืชในวงศ์ CANNABACEAE เป็นวงศ์เดียวกับ “กัญชา” หรือ Marijuana มีลักษณะทางกายภาพบางอย่างคล้ายคลึงกัน แต่ก็ยังสามารถแยกแยะได้จากลักษณะลำต้นและใบ ซึ่งกัญชงจะมีลักษณะต้นสูงกว่าและใบที่เรียวยาวและสีอ่อนกว่า และนอกจากลักษณะทางกายภาพแล้ว กัญชงยังมีลักษณะทางเคมีที่แตกต่างกับกัญชา โดยกัญชงมีปริมาณของสารทีเอชซี ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทค่อนข้างต่ำ ในขณะที่มีสารซีบีดี ที่ช่วยในการรักษาโรคบางชนิดในปริมาณที่สูงกว่ากัญชา การพัฒนาสายพันธุ์ที่ดีเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรม
น.ส.ศิวพร โชติกพนิช ประธานเจ้าหน้าที่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัทวิสและบุตรจำกัด กล่าวว่า โดยบริษัทเราทำผลิตและพัฒนาพลาสติกเพื่อการเกษตรมานานกว่า 20 ปี มีนวัตกรรมอินโนเวชั่นการทำพลาสติกเพื่อการเกษตร โดยพลาสติกเกษตรที่คัดกรองแสงที่มีประโยชน์สำหรับพืชกัญชง เพื่อคุณภาพของกัญชงที่ออกมามีคุณภาพ ซึ่งความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ โดยทางบริษัทวิสและบุตรจำกัด ได้มีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สามฝ่ายมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยมีแนวทางความร่วมมือ ได้แก่ เพื่อส่งเสริม และพัฒนาด้านการวิจัย รวมไปถึงการพัฒนาการผลิตพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ได้แก่กัญชง และผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ส่งเสริมในการทำงานร่วมกันทางด้านผลิตพืชกัญชง รวมถึงการแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ เช่น ยารักษาโรค อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และอาหารเสริม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ของบุคลากร ในการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตบัณฑิต และสนับสนุนแลกเปลี่ยนนักวิจัยของทั้งสามฝ่ายต่อไป