วันที่ 2 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำตาลสด ของดี อ.วัดโบสถ์ วิถีชีวิตของชาวอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก มาช้านาน ซึ่งการทำน้ำตาลสดวัดโบสถ์ ถือว่าเป็นอาชีพที่ใกล้จะเลือนหาย เพราะไร้คนรุ่นใหม่มาสานต่อ ประกอบกับชาวบ้านในพื้นที่ อ.วัดโบสถ์ ที่ยึดอาชีพทำน้ำตาลสดนั้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระทบโควิด-19 หาน้ำตาลสดได้ แต่ไม่มีใครซื้อ แหล่งท่องเที่ยวในชุมก็ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้ชาวบ้านละทิ้งอาชีพคนปีนตาล เพราะหาน้ำตาลสดมาได้ ก็ไม่มีคนซื้อ จนกระทั่งหลังกัญชาปลดล็อค ทำให้มีผู้ที่คิดต่อยอดเป็นน้ำตาลสดกัญชา เพิ่มมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มยอดขายให้กับชาวบ้าน
นายกิตติเดช มั่นทอง อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 115/1 ม.7 ต.วัดโบสถ์ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ผู้สานต่ออาชีพคนปีนตาลมาจากรุ่นพ่อ เล่าให้ฟังว่าสาเหตุที่อาชีพคนปีนตาลนั้นใกล้จะสูญหายไปก็เป็นเพราะเรื่องสถานที่ด้วย เพราะปรับเปลี่ยนพื้นที่นา ไปสร้างอาคารพานิชย์ สร้างบ้านกัน ทำให้ต้นตาลนั้นเริ่มน้อยลง ประกอบกับเด็กรุ่นใหม่ เขามีโอกาสได้เรียนสูงขึ้น พอเรียนจบ ก็ล้วนหางานทำในเมืองมากกว่า ที่จะกลับบ้านเกิดมายึดอาชีพคนปีนตาล เพราะเป็นอาชีพที่เสี่ยง ทั้งเรื่องความปลอดภัย และเรื่องของราคา โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 จึงทำให้นับวันอาชีพนี้แทบจะไร้คนสานต่อ
ตนเองก็เหมือนกับครอบครัวอื่นทั่วไป คือออกไปตามฝันทำงานอยู่กรุงเทพมหานคร รายได้ก็พอใช้ชีวิตอยู่ได้ แต่ไม่เหลือเก็บ ตนเป็นลูกชายคนเล็กของครอบครัว ช่วงปี 2557 พ่อกับแม่ ล้มป่วยลง ตนจึงกลับมาดูแลพ่อกับแม่ สานต่ออาชีพของพ่อ หลักคือการทำนา และอาชีพเสริมก็คือปีนตาล เพราะพ่อชราภาพมากแล้วด้วยวัย 81 ปี ไม่สามารถปีนตาลได้เหมือนแต่ก่อน จนมาช่วง 2 ปีที่ผ่านมา น้ำตาลสด หรืออาชีพคนปีนตาล กระทบกับโควิด-19 เป็นอย่างมาก ต่อให้หาตาลสดได้ หาผลผลิตจากตาลได้ แต่ชาวบ้านไม่มีแหล่งขาย หลายครอบครัวขาดรายได้เสริมจากน้ำตาลสด จนกระทั่งเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตนได้รับการติดต่อจากแบรนด์รักษ์กัญ ซึ่งเขาเข้ามานั่งศึกษาเรื่องของน้ำตาลสด ของดีของขึ้นชื่อของ อำเภอวัดโบสถ์ และเขาต้องการรับซื้อน้ำตาลสดเพื่อไปต่อยอดเป็นน้ำตาลสดกัญชา เพิ่มมูลค่าให้กับน้ำตาลสด ตนก็ดีใจมาก จึงทำให้น้ำตาลสด กลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ต้องการของตลาดอีกครั้ง
ตอนนี้ตนกลับมาเต็มที่กับน้ำตาลสดอีกครั้ง เพราะตอนนี้แบรนด์รักษ์กัญ นั้นรับซื้อน้ำตาลสดจากตน เรียกได้ว่าทุกหยดที่หาได้ ซึ่งตนสามารถรองน้ำตาลสดได้เฉลี่ยวันละ 15-25 ลิตร จำหน่ายในราคาลิตรละ 40 บาท ซึ่งก็เป็นราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ซึ่งในอนาคตก็จะรวมกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ กลับมารื้อฟื้นอาชีพคนปีนตาล เพื่ออนุรักษ์อาชีพของบรรพบุรุษไว้ เพราะเราสามารถหาแหล่งที่รับซื้อและสามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าน้ำตาลสด สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชาวบ้านได้อีกครั้ง นอกจากจากการทำน้ำตาลสดปกติ น้ำตาลคู่ หรือ การลอนตาลสดทั่วไปอีกด้วย
////////////