วันที่ 9 มีนาคม 64 นายมนิตย์ สีฆสัมบันน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับนางศศิวัณย์ ศรีพรหม นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย ผศ.สุพจน์ พฤกษะวัน ที่ปรึกษาสมาคมสมาพันธ์ ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก พ.ต.ท.วิวัฒน์ วังตา สารวัตรตำรวจท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก พร้อมคณะกรรมการฯ มาสำรวจ ดูแนวทางการพัฒนาด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านน้ำจวง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววีถีชุมชน ประเพณีวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งบ้านน้ำจวง แหล่งท่องเที่ยว ตามจุดต่างๆ อาทิ เนินภูทับสี่ เนินสองเต้า น้ำตกตาดปลากั้ง และร่วมทำหลามปลากั้ง ไก่ดำตุ๋นสมุนไพร ผัดผักลิ้นมังกร น้ำพริกม้ง ขนมเค็กลิ้นมังกร การฝั่งเข้มรักษาโรคของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ทั้งนี้ เพื่อรองรับในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวที่จะถึงนี้ พร้อมกับ ส่งเสริมคนในชุมชนให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การเดินทางมาเยี่ยมชมพื้นที่ บ้านน้ำจวง ครั้งนี้ เพื่อมารับทราบข้อมูล ภารกิจพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.พิษณุโลก ซึ่งในส่วนของหน่วยงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพิษณุโลก เข้ามาดูแลด้านการพัฒนาบุคลากรท่องเที่ยวและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ทำงานเชื่อมโยงกับหลายองค์กรด้านการท่องเที่ยว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้วางกรอบการท่องเที่ยวไว้ 6 ประเด็น คือ 1.ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป้าหมายให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสมาดูชุมชน 2 ท่องเที่ยวด้านระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม 3. ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.ท่องเที่ยวเชิงกีฬาและนันทนาการ 5.ท่องเที่ยวไมส์ การจัดนิทรรศการการประชุมสัมมนา 6.การท่องเที่ยวชีวิตวิถีชุมชน ซึ่งข้อ 6 เป็นที่มาของการมาเก็บข้อมูลที่บ้านน้ำจวง เพื่อมาดูความต้องการของชุมชนว่า ต้องการให้หน่วยงานพัฒนาด้านอะไร รับทราบปัญหาอุปสรรค เพื่อทำแผนภาพรวมของจังหวัดด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องการจัดการ การบริการด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชนเพื่อเป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยว โดยทางท่องเที่ยวและกีฬา จะหาวิทยากรมาอบรมให้ความรู้กับชาวบ้าน
นายนิรันดร์ ลีวัฒนะกุล ประธานกลุ่มท่องเที่ยวในชุมชนบ้านน้ำจวงอย่างยั่งยืน กล่าวว่า พื้นที่บ้านน้ำจวง ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูเมี่ยง-ภูทอง กอ.รมน. กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ ในอดีตชาวบ้านเดือดร้อนมาก เศรษฐกิจต่ำมาก ความจำเป็นขั้นพื้นฐานมาไม่ถึง โชคดีที่เรามีศักยภาพมีต้นทุนธรรมชาติเยอะ แต่ไม่ได้รับการพัฒนา ชาวบ้านเป็นเกษตรกร ปลูกผลผลิตได้ปีละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นก็เข้าไปหางานทำในเมืองหลวง วิถีเป็นแบบนี้มาตลอด ต่อมาทาง สมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.พิษณุโลก นายมนิตย์ สีฆสัมบันน์ และ นางศศิวัณย์ ศรีพรหม นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก เข้ามาพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำนาขั้นบันได เทศกาลกินข้าวใหม่ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายผลผลิตการเกษตรที่ปลูกได้มาก ชาวบ้านเห็นคุณค่ากลับมาทำงานที่บ้านเกิด ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวสร้างความประทับใจ เพื่อให้นักท่องเที่ยวกระจายข่าวและกลับมาเที่ยวใหม่ สำหรับสิ่งที่อยากให้รัฐช่วยเหลือคือ อยากได้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเป็นรูปธรรม ป้ายบอกทางจุดท่องเที่ยว
นางศศิวัณย์ ศรีพรหม นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า บ้านน้ำจวง มีคุณสมบัติพิเศษ คือธรรมชาติ ช่วงหน้าฝนมาท่องเที่ยวการเกษตรชมนาขั้นบันได ที่เนินสองเต้า หรือที่เรียกอีกชื่อว่า ซาปาเมืองไทย มีเทศกาลกินข้าวใหม่ หรือข้าวโค้วที่เป็นเอกลักษณ์ มีวิถีชนเผ่าที่นี่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ไม่เหมือนใคร คนในหมู่บ้านสามัคคีกันดี คนเมืองสามารถมาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่องเที่ยวผจญภัย ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้วยที่นี่มีหมอฝังเข็มที่มีฝีมือระดับแนวหน้าในการรักษา ถึง 8 คน
ซึ่งทาง ม.นเรศวรได้วิจัยข้าวโค้ว แล้ว โดยชาวบ้านเตรียมจดวิสาหกิจชุมชนข้าวโค้วบ้านน้ำจวง เพื่อทำลิบบาล์มขายนักท่องเที่ยว นอกจากนี้จะให้ ม.นเรศวร ทำการวิจัย ผักลิ้นมังกร ว่ามีคุณประโยชน์อย่างไร เพื่อสร้างสตอรี่ในการแปรรูปผักลิ้นมังกร จำหน่ายให้นักท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ต่อยอดให้กับคนในชุมชน หลังจากหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยว ตามแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดพิษณุโลกในอนาคต
/////