นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษสวนชมน่าน อำเภอเมืองพิษณุโลก ที่ซึ่งมีรัศมีทำการประมาณ 50 กิโลเมตร จากสถิติ 50 กว่าวัน ที่เริ่มมีการติดตั้งค่าเฉลี่ยเฉลี่ยแล้ว ก็ถือว่ายังอยู่ในขั้น บางครั้งก็ดี บางวันสภาพอากาศปานกลางบางช่วงบางจังหวะสภาพอากาศน่าเป็นห่วง อาจจะมีเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตอนนี้อากาศจะยิ่งแรงขึ้นและก็ร้อนขึ้น โอกาสที่จะมีการจุดฮอทสปอตมากขึ้น เนื่องจากสาเหตุมาจากการเผาป่าและพื้นที่ทางการเกษตร ทางจงหวัดได้มีการรณรงค์ ชิงเผาและทำแนวกันไฟ พร้อมสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ซึ่งก็ได้ดำเนินการไปแล้ว และยังมีการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัด สำหรับมาตรการควบคุมนั้น เรามีมาตรการทางด้านกฎหมาย หากพบว่ามีการแอบเผาจริงก็จะดำเนินตามกฎหมายได้ทันที แต่อย่างไรก็ตามก็ขอวอนประชาชนว่าอย่าแอบเผาป่า เพื่อหาของป่า หรือ เผาพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งจะทำให้ค่าฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นได้ เราก็ไม่อยากใช้ในข้อกฎหมายตรงนั้น
ทั้งนี้ ค่าPM 2.5 ของจังหวัดพิษณุโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบกับสุขภาพ วานนี้ 23 ม.ค. 64 มาอยู่ที่ 90 ไมโครต่อลูกบาศกศ์เมตร เช้าวันนี้ 24 ม.ค.64 PM 2.5 ของพิษณุโลกอยู่ที่ 79 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์มีเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
นาย ธีรัชสิทธิ์ วงศ์วาน ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลกได้ติดตามเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ ข้อมูลสะสมตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 21 มกราคม 2564 จังหวัดพิษณุโลกมีคุณภาพอากาศดีมากจำนวน 5 วัน คุณภาพอากาศดีจำนวน 14 วัน คุณภาพอากาศปานกลางจำนวน 19 วัน และคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานจำนวน 12 วัน ประชาชนทั่วไปควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการไอหายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ขณะที่จุดความร้อนสะสมจากภาพถ่ายดาวเทียมในพิษณุโลกพบว่า ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ทางการเกษตร 451 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 110 จุด ป่าอนุรักษ์ 84 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 60 จุด โดยจะพบจุดความร้อนสะสมมากที่สุดในพื้นที่อำเภอพรหมพิราม รองลงมาได้แก่ อำเภอวัดโบสถ์และอำเภอเมืองพิษณุโลกตามลำดับ จังหวัดพิษณุโลกได้ดำเนินการมาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมสถานการณ์ โดยแจ้งทุกภาคส่วนดำเนินการตามประกาศของจังหวัดพิษณุโลกลงวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ซึ่งกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาเด็ดขาดระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 โดยเคร่งครัด ควบคู่กับมาตรการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในรูปแบบ ชิงเก็บ ลดเผา โดยส่งเสริมการนำเศษวัสดุเชื้อเพลิงมาใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มในชุมชน เช่น การทำปุ๋ยหมัก ควบคู่กับการทำแนวกันไฟ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาคประชาชน และการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
/////////