ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่กลุ่มทอผ้าบ้านนาเมือง อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ผศ. ดร. อนงค์ ศรีโสภา อาจารย์ประจำสาขาเคมี ผศ. ดร. มนตรา ศรีษะแย้ม อาจารย์สาขาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันทำการวิจัยสีย้อมจากใบปีบ ที่มีคุณสมบัติ ต้านแบคทีเรียแกรมบวก แบคทีเรียแกรมลบ และแบคทีเรียก่อสิว ป้องกันรังสียูวี นอกจากนี้ใบปีบยังหาง่าย ใบมีขนาดเล็กสกัดน้ำสีได้ง่าย สีย้อมจากใบปีบมีแทนนินสูง ช่วยให้ย้อมติดเส้นใยได้ดี สีติดทนทาน ไม่ตกและไม่ซีดจางง่าย
อีกทั้งในส่วนของใบปีบ ยังสามารถรังสรรค์เฉดสีได้ตั้งแต่เหลืองอ่อน เหลืองทอง เขียวอ่อน เขียวเข้ม จนถึงสีน้ำตาล โดยใช้สารช่วยย้อม เช่น สารส้ม น้ำปูนใส น้ำขี้เถ้า น้ำมะขาม สนิมเหล็ก จุนสี หรือหมักโคลนย้อมติดดีทั้งเส้นไหม เส้นฝ้าย และเรยอน ใช้ได้ดีทั้งกับงานผ้าทอมือและงานมัดย้อม เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มทอผ้า จังหวัดพิษณุโลกที่มีภูมิปัญญาและความสามารถในการทอผ้าอยู่แล้ว ได้ใช้สีย้อมธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากโดยใบปีบ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และมีเฉดสีสวยงาม
ผศ.ดร.อนงค์ ศรีโสภา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ต้นปีบหรือต้นกาสะลองเป็นไม้มงคล อายุยืน มีกลิ่นหอมฟุ้ง และเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลก ในส่วนของดอก นอกจากจะมีกลิ่นหอม และนิยมชงเป็นชาแล้ว ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยแก่คณะผู้วิจัย ให้ศึกษาเกี่ยวกับสารออกฤทธิ์ในดอกปีบและใบปีบ ซึ่งพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ป้องกันรังสียูวี มีแทนนินสูงช่วยให้ย้อมสีติดในเส้นใยทนนาน ไม่ซีดจางง่าย ให้เฉดสีสวยงามและเป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น พร้อมชูคุณสมบัติพิเศษ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติที่มีกลิ่นหอมและต้านเชื้อแบคทีเรียด้วย โดยให้ รศ.บุษบา หินเธาว์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ และผศ.ดร.ธนสาร เพ็งพุ่ม อาจารย์ประจำสาขาวิชา.เทคโนโลยีการศึกษา ร่วมกันถ่ายทอดความรู้ในการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการมัดย้อมผ้าท้องถิ่น ให้แก่กลุ่มทอผ้าบ้านนาเมือง อ.ชาติตระการ ซึ่งเป็นกลุ่มทอผ้าท้องถิ่นที่ทอผ้าลายดอกปีบ ซึ่งเป็นลายผ้าประจำจังหวัดพิษณุโลก ต่อไป
/////////////